สถานการณ์ทารกไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงตาบอดสูงโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลจากการคลอดก่อนกำหนดแล้วขาดการคัดกรองนำมาสู่โรคจอประสาทตาผิดปกติสุดท้ายกลายเป็นคนตาบอดมากขึ้น

แต่ว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้จาก “การตรวจพบโรคให้เร็ว” เพื่อนำไปสู่การส่งต่อทารกไปยังแพทย์รักษาที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตาบอดในทารกได้อย่างทันท่วงที ทำให้คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จับมือกับ ม.จอห์นฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Shanghai Jiao Tong University สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทำวิจัยโครงการป้องกันการตาบอดในเด็กไทยที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มีเป้าหมายทำแผนงานเพื่อลดการตาบอดในเด็กจากโรคจอตาเสื่อมคลอดก่อนกำหนด “ทีมข่าวสกู๊ป” ได้เข้าดูระบบจัดการโครงการนี้โดย ผศ.พญ.อัจฉรียา วิวัฒน์วงศ์วนา หน.หน่วยจักษุวิทยาเด็กและตาเข ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. บอกว่า

ปัจจุบันเด็กคลอดก่อนกำหนดปีละ 4-5 หมื่นคนมักมีความเสี่ยงต่อ “การเป็นโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด” สาเหตุทำให้เด็กไทยตาบอดอันดับ 1 อย่างน้อย 1 ใน 1,000 หรือ 0.1% ของเด็กไทย แล้วในจำนวนนี้ 2 ใน 3 หรือ 30% ก็มักเกิดจากสาเหตุของโรคจอประสาทตาผิดปกตินี้

...

แน่นอนว่าปัจจัยเสี่ยงมักเกิดขึ้นกับ “เด็กคลอดก่อนกำหนด” ยิ่งอายุครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์ หรือน้ำหนักแรกเกิดเด็กน้อยกว่า 1,500 กรัมจะมีความเสี่ยงรุนแรงต้องคัดกรองให้ทัน เพียงแต่บางโรงพยาบาลไม่มีหมอดวงตาเด็กต้องถ่ายภาพจอประสาทตาตรวจผ่านแพทย์ทางไกล ให้ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลอื่นแนะนำวิธีรักษาเร่งด่วน

ถ้าวินิจฉัยล่าช้ามากหลังคลอดจะก่อเกิดจอประสาทตาหลุดลอกอย่างถ้าคัดกรองใน 4 สัปดาห์เด็กทารกเสี่ยงตาบอด 25-30% แต่หากเนิ่นนานกว่านั้นโอกาสรักษาโรคจะมีผลไม่ดีแนวโน้มเด็กตาบอดถาวรก็มีสูง

ปัญหาที่น่ากังวลโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล “การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ไม่ดี” ในโรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาเด็กกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพทารกมากจน “เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของธุรกิจกระทิงแดง” ได้เล็งเห็นปัญหานี้จึงสนับสนุนการทำวิจัยโครงการป้องกันการตาบอดในเด็กไทย

ด้วยการมอบอุปกรณ์กล้องตรวจจอประสาทตาแบบมุมกว้างสำหรับเด็ก ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองให้ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และได้เชิญ นีล เอ็ม.เบรสเลอร์, เจมส์ พี.กิลส์ ศาสตราจารย์จักษุวิทยา ม.จอห์นฮอปกินส์ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มาถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มช.

ก่อเกิดความร่วมมือคณะแพทยศาสตร์ มช., ม.จอห์นฮอปกินส์ และ Shanghai Jiao Tong University พัฒนาการตรวจระบบแพทยทางไกลให้เสถียรนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล โดยคณะแพทยศาสตร์ มช.เป็นศูนย์กลางช่วยอ่านภาพสแกนจอประสาทตาเด็กผ่านแพทย์ทางไกลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ 2 สถาบันข้ามทวีปเพื่อวิเคราะห์แผนรักษา

“โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาในพื้นที่ห่างไกลให้เด็กเสี่ยงตาบอดมากขึ้นเนื่องจากขาดการคัดกรองแล้วตัวโรคก็พัฒนาไปเร็วต้องได้รับการวินิจฉัยใน 1 เดือนหลังคลอดหากพบต้องรักษาใน 48 ชม. ทำให้ต้องพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลมาช่วยเพื่อป้องกันการตาบอดในเด็กไทย” ผศ.พญ.อัจฉรียา ว่า

ขณะที่ นีล เอ็ม.เบรสเลอร์ แพทยศาสตรบัณฑิตศาสตราจารย์จักษุวิทยา ม.จอห์นฮอปกินส์ บอกว่า เด็กไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาผิดปกติหลังคลอดก่อนกำหนดที่นำไปสู่การตาบอดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สนใจทำวิจัยแล้วพยายามหาแหล่งทุนก่อนมาเจอเฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นคนไข้รักษาดวงตาเลยเล่าให้ฟัง

ก่อนได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยครั้งนี้พร้อมอุปกรณ์กล้องตรวจจอประสาทตาฯ เพราะเด็กคลอดก่อนกำหนดมักได้รับการตรวจโดยวิธีส่องกล้องตาใช้แสงจ้าในการมองเห็นจอประสาทตามีผลต่อทารกรู้สึกเครียดแล้วยากต่อการปฏิบัติ ต้องใช้จักษุแพทย์มีประสบการณ์ประเมินที่มีไม่กี่คนในภูมิภาคทั่วโลกที่ตรวจโดยเด็กมีความเครียดน้อย

ดังนั้น การใช้กล้องพิเศษจะช่วยอ่านค่าจอประสาทตาง่ายขึ้น เพราะการช่วยเด็กคลอดก่อนกำหนดไม่ให้ตาบอดต้องใช้กล้องถ่ายภาพละเอียดสูงจึงจะเห็นจอประสาทตาเด็กได้ “เมื่อทราบก็ส่งรักษาเพิ่ม” โดยปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาแบบมุมกว้างนี้ในไทยมีไม่ถึง 10 เครื่องและ 1 เครื่องอยู่ที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่

นับเป็นเครื่องที่มีความละเอียดสูงล้ำสมัยมากที่สุดตอนนี้แล้วข้อดีคือ “ผู้ถ่ายภาพ” ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เพียงแต่เป็น “พยาบาล หรือบุคคลทั่วไป” ก็สามารถทำการถ่ายภาพจอประสาทตาเด็กได้เช่นกัน

...

ในส่วน “วิธีการวิเคราะห์ผ่านแพทย์ทางไกล” ก็จะเข้ามาช่วยด้วยการถ่ายภาพตาเด็กควบคู่ไปกับการตรวจจริงแล้วส่งภาพให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยวินิจฉัยภาพถ่ายได้ทั้งใน Shanghai Jiao Tong University แห่งจีน และ ม.จอห์นฮอปกินส์แห่งสหรัฐฯ เพื่อนำผลการตรวจมาเปรียบเทียบกับคณะแพทย์ศาสตร์ มช.ที่เป็นผู้ตรวจคนไข้จริง

เพื่อทดสอบว่า “ผลตรวจจริงมีเปอร์เซ็นต์ตรงกันสูงก็นำมาใช้ได้” โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญดวงตาเด็กโดยระบบจะสามารถวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้ “เพื่อให้เด็กคลอดก่อนกำหนดรับการรักษาทันท่วงทีลดความเสี่ยงตาบอด” นอกจากนี้ยังนำข้อมูลมาประกอบการวิจัยที่จะถูกใช้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

ในอนาคตกำลังพัฒนานำเอไอมาช่วยอ่านภาพถ่ายจอประสาทตาเด็กเบื้องต้น “คัดกรองกลุ่มเสี่ยงรุนแรง” ที่ทำให้ผู้รับการตรวจเครียดน้อยกว่าวิธีส่องกล้องตาโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาในเด็ก

ด้าน จุน คอง แพทยศาสตรบัณฑิต ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต นักวิชาการอาคันตุกะ ม.จอห์นฮอปกินส์ ให้ข้อมูลเสริมว่า เด็กในประเทศจีนเคยเผชิญกับโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนดเยอะมาก “ก่อนเกิดความร่วมมือระหว่างหมอเด็ก และหมอตา” เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดอย่างละเอียดขึ้น

...

ทำให้ช่วง 10 ปีนี้สามารถป้องกันได้ระดับหนึ่งส่งผลให้โรคตาบอดในเด็กจีนลดลงจนมีประสบการณ์จึงมาร่วมมือกับ 3 สถาบันเพื่อวิจัยการป้องกันการตาบอดในเด็กไทย เพื่อพัฒนาความสามารถการตรวจให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ “ในการป้องกันการตาบอดในทารก” ถ้าตรวจพบโรคจอตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนดเร็ว ก็จะถูกส่งต่อไปยังแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงตาบอดได้ทันแล้วยิ่งถ้ารัฐบาลสนับสนุนระบบคัดกรองแพทย์ทางไกลครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าคนตาบอดในไทยจะลดลงได้มาก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม