เหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516 เหมือนการระเบิดตูมใหญ่แห่งจิตสำนึกของคนหนุ่มสาว เพื่อคนจนและความยุติธรรม ความร้อนแรงของจิตสำนึกใหม่นี้ได้กลายเป็นรูปธรรมหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ...“ขบวนการแพทย์ชนบท” คือแพทย์จบใหม่ออกไปทำงานในชนบท

เพื่อรับใช้คนจน รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนก่อตัวเป็นขบวนการแพทย์ชนบท สืบเนื่องต่อมายาวนาน แม้จิตสำนึกนี้ได้หายไปแล้วในอุดมศึกษา...การทำงานในชุมชนทำให้แพทย์ชนบทเข้าใจระบบ และการจัดการ

และ...รู้ “ความจริง” ของแผ่นดินไทย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2524 ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ บอกว่า คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทยคือปัญหาใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่รู้ความจริงก็ทำไม่ถูกต้อง ประเทศไทยจึงตกอยู่ใน วิกฤติเรื้อรัง

...

“เมื่อแพทย์ชนบทเข้ามาทำงานในส่วนกลางจึงสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ ในขณะที่แพทย์เฉพาะทางมีความเป็นเลิศทางวิชาการแต่ไม่เข้าใจระบบและการจัดการ จึงไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย...เราจึงใช้คำว่า From Community to Policy หรือจากชนบทสู่นโยบาย”

หมายถึง...แพทย์ชนบทซึ่งผ่านการทำงานชุมชนมาก่อนแล้วมาขับเคลื่อนนโยบาย นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติและ มีผลใหญ่ เช่น เมื่อมีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี สปสช.เป็นผู้จัดการ

“คนจน” ทั้งประเทศได้รับประโยชน์มหาศาล

ประเทศไทยมีการ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ทำให้มีระบบสุขภาพ ที่ดี มีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถทำสิ่งที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดยังทำไม่ได้...กระบวน การปฏิรูประบบสุขภาพ ได้สร้างองค์กรที่เป็นอิสระขึ้นมาช่วยกระทรวง สาธารณสุขถึง 7 องค์กร ที่เรียกว่าองค์กร “ตระกูล ส.” คือ

“สวรส.”...สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข “สปสช.”...สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “สสส.”...สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ “สช.”...สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ “สรพ.”...สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล “สพฉ.”... สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

“มสช.”...มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อร่วมกับ “สธ.”...

กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นองค์กร ส.ทั้ง 8 เป็นพลังมหาศาลที่จะขับเคลื่อนเรื่องดีๆต่อไปอีกได้ ไม่มีกระทรวงหรือองค์กรใดเลยที่มีพลังร่วมถึงขนาดนี้

วันที่ 31 ส.ค.2567 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มูลนิธิรามอนแมกไซไซ ได้ทำพิธีประกาศ มอบรางวัลรามอนแมกไซไซ ให้กับผู้ได้รับรางวัลจากประเทศต่างๆในเอเชีย 5 ประเทศ กับ หนึ่งองค์กร ซึ่งก็คือ... “ขบวนการแพทย์ชนบท” จากประเทศไทย ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลในกลางเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์

...

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่า รางวัลครั้งนี้มาจากแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี โดยได้สร้างผลงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิดในประเทศอื่นๆ แน่นอนว่า... รางวัลแมกไซไซจะเป็นพลังซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนและสร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญ ให้การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทยประสบผลสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อีกหนึ่งพลังแพทย์ชนบทที่สำคัญ...เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง...รณรงค์คัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา...ให้ความสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขระหว่างกรุงเทพฯ เมืองใหญ่กับชนบท

...

นายแพทย์วิชัยเป็น 1 ใน 100 ที่ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ร่วมออกรณรงค์ เผยแพร่ประชาธิปไตยโดยร่วมกับขบวนการนิสิตนักศึกษา และร่วมในการผลักดันให้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ให้รัฐต้องรักษาพยาบาลผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า เป็นต้น

นายแพทย์วิชัยได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบท และได้รับเลือกเป็นประธานคนที่ 4 ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2537 ได้ร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

จนในที่สุดเกิด “การปฏิรูปการเมือง” คือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” พ.ศ.2540 ซึ่งส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เพื่อให้ได้ “รัฐบาลเข้มแข็ง”...มี สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ฯลฯ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊ก “Supat Hasuwannakit” ถึงรางวัลแมกไซไซ ระบุว่า รางวัลแมกไซไซเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Nobel Peace Prize of Asia

...

เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 1957 เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์

ขบวนการแพทย์ชนบทกับการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไก คือ...

ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท กลุ่มสามพราน ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการเฝ้าระวังป้องกันการคอร์รัปชัน

“ประเทศไทย” มีบุคคลหรือองค์กรรับรางวัลแมกไซไซแล้วจำนวน 24 ท่าน/องค์กร และขบวนการแพทย์ชนบทเป็นรายที่ 25 สำหรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้

“การที่ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซในคราวนี้ จึงเป็นโอกาสที่คนไทยและประเทศไทยควรจะจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ เพื่อกระตุ้นคนไทยทุกภาคส่วนและชาวโลกได้เรียนรู้ว่า...การทำเรื่องดีๆให้ประชาชนทั้งประเทศมีวิธีการอย่างไร” ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวทิ้งท้าย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม