พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ถล่มหนัก หลังพัดขึ้นฝั่ง “จีน-เวียดนาม” เกิดฝนตก ลมกระโชกแรง ซัดอาคารบ้านเรือนพังเสียหายหนัก ต้นไม้ล้มระเนนระนาด ตัดขาดระบบไฟฟ้า คมนาคม เวียดนามต้องปิด 4 สนามบิน คาดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ศพ บาดเจ็บอื้อ ก่อนที่พายุจะอ่อนกำลังลงเมื่อเข้าสู่ สปป.ลาว คาดได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ รวมถึงนครเวียงจันทน์ ส่วนไทยแม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เจอฝนหนักแน่ ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน กระทบถึงภาคกลางที่ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักจะสูงขึ้น โดยกรมชลประทานเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา “อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ” รวมถึงกทม. พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำเตรียมยกของขึ้นที่สูง

หลายประเทศเจอฤทธิ์พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่มีความรุนแรงระดับ 3 ซัดถล่ม โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซัดถล่มเกาะไห่หนาน ทางใต้ของจีน ด้วยความเร็วลมสูงสุด 234 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตก ลมกระโชกแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ศพ และบาดเจ็บ 92 ราย อีกทั้งสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้โค่นล้ม น้ำท่วมและส่งผลให้ระบบไฟฟ้าขัดข้องกว่า 830,000 ครัวเรือน

ต่อมาในวันที่ 7 ก.ย. ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นยางิเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทางตอนเหนือของเวียดนาม คือ จังหวัดไฮฟอง จังหวัดกว๋างนินห์ ด้วยความเร็วลม 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงจนบ้านเรือนพังเสียหาย และระบบไฟฟ้าขัดข้องในจังหวัดกว๋างนินห์ ด้านสำนักข่าววีเอ็นเอ็กซ์เพรสของเวียดนามระบุว่า อิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ ในจังหวัดหายเซือง ทางตอนเหนือของประเทศ จากการถูกต้นไม้ล้มใส่ขณะขี่มอเตอร์ไซค์ในช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ย.

...

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์อุทกภัย-อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเวียดนาม ประกาศยกระดับการเตือนภัยสูงสุด และสั่งอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย เนื่องจากคาดว่าอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิจะทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มได้ ทั้งนี้ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นยางิถือเป็นหนึ่งในพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงมากสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในรอบกว่า 30 ปี

วันเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์อังกฤษรายงานว่า ทางการเวียดนามสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งเกือบ 50,000 คน ไปยังที่ปลอดภัย พร้อมกระจายกำลังทหารกว่า 450,000 นาย เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ นอกจากนี้ มีการระงับการเรียนการสอนของโรงเรียนใน 12 จังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงในกรุงฮานอย และยังคงปิดสนามบินหลัก 4 แห่ง ของเวียดนาม คือ สนามบินโหน่ยบ๋าย กรุงฮานอย สนามบินวานดอน จังหวัดกว๋างนินห์ สนามบินก๊าตบี จังหวัดไฮฟอง และสนามบินเทอซวน จังหวัดทัญฮว้า

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ของสปป.ลาว ประกาศแจ้งเตือนไต้ฝุ่นยางิเคลื่อนขึ้นฝั่งภาคเหนือของเวียดนามในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ด้วยความเร็วลม 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนเมื่อผ่านจังหวัดเซินลาของเวียดนามในช่วงค่ำ จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเช้าของวันที่ 8 ก.ย. โดยเคลื่อนตัวผ่านทางเหนือของสปป.ลาว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฝนตก ฟ้าร้อง ลมพัดแรงในบางพื้นที่ ได้แก่ แขวงพงสาลี แขวงหัวพัน แขวงเชียงขวาง แขวงอุดมไซ แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรี แขวงไชยสมบูรณ์ แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต และนครเวียงจันทน์

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยออกประกาศเรื่องพายุ “ยางิ” ฉบับที่ 17 ความว่า เมื่อเวลา 16.00 น. พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนามแล้ว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 167 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเล อันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเล อันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุยางิ ที่คาดว่าภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออก เฉียงเหนือของไทยจะมีฝนที่ตกหนักมากขึ้น หลังเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์อุทกภัยมาหมาดๆ ด้วยการพร่องน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำสำคัญ โดย จ.พะเยา น้ำในลำน้ำอิงได้ลดลงเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ เหลือแต่ดินโคลนที่ตกค้างกระจายไปทั่วบริเวณ ทหารมทบ. 34 ตชด. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา ร่วมกันทำความสะอาด ปัดกวาดถนนสายหลัก และถนนรอบชายกว๊าน ตลอดจนถนน วัด บ้านเรือนตามชุมชนท้ายน้ำที่ถูกน้ำท่วมขัง ขณะที่ชลประทานพะเยาทำการระบายน้ำกว๊านพะเยาออกสู่ลงลำน้ำอิงวันละ 10-12 ล้าน ลบ.ม.จนระดับน้ำกว๊านพะเยามีปริมาณน้ำเหลือเพียง 53.957 ล้านลบ.ม. เช่นเดียวกับที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการเขื่อนฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเขื่อนระบายน้ำออกเป็นวันที่ 7 และจะทำไปจนถึงวันที่ 10 ก.ย. ตอนนี้ไม่น่าห่วงพายุเพราะจะพัดเข้ามาเพียง 3-4 วัน จะมี มวลน้ำไหลเข้ามาประมาณ 30 ล้าน. ลบ.ม. แต่ที่น่าห่วงหากเป็นร่องมรสุม ร่องความกดอากาศต่ำ จะทำให้ฝนตกนานปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่นายอภิชัย จำปานิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มคลี่คลาย น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬลดลงอย่างต่อเนื่อง จนพ้นจุดเฝ้าระวังแล้ว หลังจากนี้จะสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยข้อมูล ณ 3 ก.ย.น้ำท่วมจังหวัดบึงกาฬทั้ง 8 อำเภอ โดยเฉพาะนาข้าว สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่คาดว่าได้รับความเสียหายจำนวนมาก

วันเดียวกัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกแถลงการณ์สถานการณ์น้ำคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงวันที่ 9-12 ก.ย.นี้ว่า ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลงทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย หลังเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างนินห์ ประเทศเวียดนาม จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดย สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย) จ.บึงกาฬ (อ.บุ่งคล้า และบึงกาฬ) จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด และอุ้มผาง) จ.กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี) และ จ.ตราด (อ.เมืองตราด) ซึ่ง สทนช.ได้ประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

...

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 7 เตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพ มหานคร โดยกรมชลประทานประเมินสถานการณ์น้ำฝนพบพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก จึงต้องเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่แม้พายุไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่อาจมีอิทธิพลส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศ ทำให้กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,500-1,700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20-50 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และในแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำ

ขณะที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดภาคกลางข้างต้น รวมถึง กทม.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำและบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...