จากกรณีนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ อดีต ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จ.ชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ตามที่ผู้บริหารธนาคารออมสินได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นลูกหนี้ในโครงการสวัสดิการแสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มีอิสระว่าจะทำประกันเงินกู้หรือไม่ทำประกันก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นจริงได้ยากนั้น
นายอรรถพล ตรึกตรอง อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวว่า นอกจากประเด็นผู้ค้ำประกันจะไม่ยินยอมให้ผู้กู้ไม่ทำประกันสินเชื่อ ช.พ.ค. เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีอุปสรรคใหญ่เรื่องเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โครงการที่ 6 วงเงินกู้ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และโครงการ 7 วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่สำนักงาน สกสค. และธนาคารออมสินได้ทำกันไว้ในอดีต ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ด้วย ที่ระบุไว้ว่า “กรณีผู้กู้แจ้งความประสงค์ที่จะทำประกันหรือต่ออายุกรมธรรม์ประกัน ถ้าธนาคารได้ชำระค่าเบี้ยประกันแทนผู้กู้แล้ว ผู้กู้ยินยอมชำระค่าเบี้ยประกันดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาเงินกู้ให้แก่ธนาคารภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน หากพ้นกำหนดผู้กู้ยินยอมให้ธนาคารนำเงินค่าเบี้ยประกันรวมเข้ากับเงินกู้ที่ค้างชำระและยอมชำระดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันในอัตราเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาเงินกู้”
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ดังนั้น ในสมัยที่ตนปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ช่วงต้นปี พ.ศ.2562 จึงได้เจรจากับทางธนาคารออมสินขอทบทวนบันทึกข้อตกลงโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. 6-7 และขอยืดหยุ่นสัญญาเงินกู้ในประเด็นเงื่อนไขดังกล่าว เพราะเกรงว่าครูฯจะถูกขังอยู่กับเงินกู้ดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ตนจึงอยากเรียกร้องไปยัง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. ได้โปรดช่วยครูฯจำนวนนับแสนคนไม่ให้ถูกขังอยู่กับวงจรเงินกู้โครงการ ช.พ.ค.6 และ 7 ด้วยการเจรจากับธนาคารออมสินอีกครั้ง ขอทบทวนบันทึกข้อตกลงโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.6-7 และขอยืดหยุ่นสัญญาเงินกู้ของครูฯดังกล่าว.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่