รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยข่าวดี สหรัฐฯ ถอดสินค้ากุ้งไทยจากบัญชีเฝ้าระวัง ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกกุ้งไทยในตลาดอเมริกา

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวดีว่าสหรัฐอเมริกาได้ถอดถอนสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวัง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เปิดเผยว่า วันที่ 5 กันยายน 2567 กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ประกาศบัญชีรายชื่อสินค้าที่เชื่อได้ว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ (TVPRA List) และบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กบังคับหรือแรงงานเด็กขัดหนี้ (EO List) ประจำปี 2567 (2024) โดยระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ปลดสินค้ากุ้งของประเทศไทยออกจากบัญชีดังกล่าว หลังจากได้มีการประเมินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับทราบถึงความพยายามของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และองค์กรภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กบังคับในภาคสินค้ากุ้งของประเทศไทย

ถือเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมกุ้งไทย รวมไปถึงภาคแรงงาน ซึ่งการถอดถอนกุ้งไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการใช้แรงงานของไทย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสินค้าของไทย อีกทั้งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมประมงและแรงงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้นำเสนอรายงานต่อสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลการดำเนินการตรวจสอบกิจการประมงและกุ้ง ซึ่งไม่พบว่ามีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานเด็กบังคับในกิจการดังกล่าว โดยภาคประชาสังคม และองค์กรแรงงานได้ยืนยันเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นของประเทศไทย

...

ทั้งนี้ กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล คุ้มครองแรงงาน และรับผิดชอบจัดทำรายงานเพื่อเสนอปลดรายการสินค้าไทยจากบัญชี TVPRA List และ EO List ได้มีการดำเนินงานอย่างรอบคอบและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานเด็กบังคับอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการตรวจแรงงานเชิงรุกและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตกุ้งและกิจการที่เป็นห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำตลอดถึงปลายน้ำได้มีการกำกับดูแลการใช้แรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และนำมาตรฐานแรงงานไทยและแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารกิจการ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับร่วมกับ 12 องค์กรภาคเอกชนเพื่อกำกับดูแลแรงงานข้ามชาติและขจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน ด้วยความพยายามทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สหรัฐอเมริกาพิจารณาถอดสินค้ากุ้งไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังได้ในที่สุด.