กลุ่มชาวประมงรวมตัวยื่นฟ้องบริษัทเอกชนในคดีแพ่ง ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนหลายพันล้าน ชดใช้ผลกระทบจากการนำเข้า "ปลาหมอคางดำ" พร้อมกับยื่นฟ้อง 18 หน่วยงานรัฐ ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และประมงพื้นบ้าน ในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน กว่า 1,400 คน ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ เดินทางมายังศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พร้อมด้วยคณะทำงานสิ่งแวดล้อม จากสภาทนายความฯ ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ และกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม

โดยนายปัญญา เผยว่า พวกตนได้รับผลกระทบ และถูกละเมิดสิทธิมานาน การประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้งปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ ซึ่งตอนนี้ในบ่อที่เลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ และตั้งแต่ที่ตนเองและกลุ่มสมาชิก พบปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่รุนแรงช่วงปี 2559-2560 ซึ่งตนเองและกลุ่มสมาชิกก็ได้ไปร้องเรียนมาหลายที่แล้ว ทั้งนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร จากตอนแรกแค่ในจังหวัดตนเอง ตอนนี้แพร่ไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศแล้ว รวมถึงรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลเยียวยาพวกตน และในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มาร้องศาลแพ่งให้ช่วยเหลือในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินคดีจะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม

...

1. กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยง ในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

2. กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวัน ในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

นอกจากฟ้องร้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ช่วงเช้าวันนี้ ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้าน จังหวัดสมุทรสงครามจำนวน 54 คน ก็จะยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

ประกอบไปด้วย 1. กรมประมง 2. อธิบดีกรมประมง 3. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 14. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16. กระทรวงมหาดไทย 17. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 18. กระทรวงการคลัง

ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจากบริษัทเอกชนผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย.