“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน ยืนยันบอร์ดค่าจ้างเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 400 บาท ในบางกลุ่มอาชีพ เริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค. มองหลายบริษัทปิดกิจการ จากหลายสาเหตุ ไม่เกี่ยวกับการปรับค่าจ้าง

วันที่ 4 ก.ย. 67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า ยังยืนยันตามนโยบายเดิมของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และพร้อมทำตามนโยบายของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ที่จะยังเดินหน้าปรับค่าจ้างต่อไป โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างได้ยืนยันมาตลอดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท จะมีการประกาศใช้พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค. 67 แต่จะเป็นการปรับในบางกลุ่มอาชีพและบางไซต์ของสถานประกอบการ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้างขอให้รอการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีในเดือนนี้ 2 ครั้ง หลังจากนั้นปลัดกระทรวงแรงงานจะออกมาแถลงอัตราค่าจ้างใหม่ให้ทราบ

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่บางบริษัทมีการปิดกิจการในขณะนี้ อย่ามองว่าเป็นผลกระทบมาจากการปรับค่าจ้าง เพราะบางกิจการปิดไปตามช่วงเวลาไม่ได้เพิ่งจะมาปิดกิจการในช่วงนี้ หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่ามีบริษัทที่ปิดกิจการในทุกปี เพราะสินค้าอาจจะไม่เป็นที่นิยม หรือมีการย้ายฐานการผลิต และก็มีบริษัทที่เปิดกิจการขึ้นมาใหม่ทุกปีเหมือนกัน จึงต้องมองด้วยความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งในเรื่องนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด

“หากคนทำงานไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่างๆ ที่ทางบริษัทประกาศไว้ ขอให้ร้องไปที่ 5 เสือแรงงานในจังหวัดที่ใกล้ที่สุด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปเป็นคนกลางในการเจรจาซึ่งขณะนี้มีร้องเข้ามาทุกวัน กระทรวงแรงงานพยายามประสานผลประโยชน์ให้แรงงานทุกคนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และต้องรักษาสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน” นายพิพัฒน์ กล่าว

...

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ก.ค. มีโรงงานเลิกประกอบกิจการจำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 54 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลงใน 7 เดือนแรกของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน