ผมเป็นแฟนประจำของเอกสาร “ราย 3 เดือน” ของสภาพัฒน์ที่มีชื่อว่า “รายงานภาวะสังคมไทย” ประจำไตรมาสต่างๆ มาหลายปีแล้วครับ...อ่านแล้วได้ข้อมูล ได้ความรู้ และได้ความคิดเกี่ยวกับ “ภาวะสังคมไทย” ของเราอย่างลึกซึ้งอยู่เสมอๆ

อย่างฉบับที่ผมได้รับล่าสุดเป็นของ “ไตรมาสแรก” ประจำปี 2567 หรือปีนี้นั่นเอง...แม้จะเพิ่งมาถึงผมเมื่อไม่กี่วัน ประมาณปลายๆ ของ “ไตรมาส 3” เข้าไปแล้ว แต่รายงานฉบับนี้ก็ยังมีอะไรดีๆ มาให้อ่าน และนำมาเขียนเผยแพร่ต่อได้อีกเช่นเคย

โดยเฉพาะรายงานที่เขาพาดหัวเอาไว้เรื่องหนึ่งว่า “ทำอย่างไรเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมคนโสด?” ให้ความรู้ตลอดจนข้อมูลและเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงแต่งงานน้อยลง ครองตนเป็นโสดกันมากขึ้น จนเป็นผลให้คนไทยเกิดน้อยกว่าตายในแต่ละปี นำไปสู่ปัญหาประชากรของประเทศไทยจะลดลงในอนาคต

รายงานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (SES) ปี 2566 ที่พบว่าคนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้นในปัจจุบัน โดยสูงถึงร้อยละ 23.9 และหากพิจารณาเฉพาะ ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ด้วยแล้วจะสูงถึงร้อยละ 40.5 เลยทีเดียว

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นโสดนั้น รายงานของสภาพัฒน์แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ซึ่งเนื้อที่คอลัมน์ผมคงไม่พอที่จะนำมาลงให้อ่านได้ทั้งหมด ขอยกตัวอย่างเฉพาะ ด้านแรก อันได้แก่ ค่านิยม ทางสังคมของการเป็นคนโสดยุคใหม่ ซึ่งจำแนกเป็นค่านิยมย่อยได้อีก 3 หัวข้อ ดังนี้

ข้อย่อยที่ 1 คนโสดกลุ่ม SINK ซึ่งย่อมาจาก “Single Income, No Kids” หรือคนโสดที่มีรายได้และตั้งใจไม่มีลูก เน้นการใช้จ่ายต่างๆเพื่อตนเอง จากข้อมูล SES ปี 2566 สัดส่วนคนโสดในกลุ่ม SINK จะสูงขึ้นตามลำดับของรายได้

...

ข้อย่อยที่ 2 คนโสดกลุ่ม PANK ที่ย่อมาจาก “Professional Aunt, No Kids” อันได้แก่ กลุ่มสตรีโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีอาชีพและรายได้ที่ดีและไม่มีลูก...กลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการดูแลหลานหรือเด็กๆในครอบครัวรอบตัว โดยกลุ่ม PANK ซึ่งมีประมาณ 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและการศึกษาสูง

ค่านิยมย่อยที่ 3 รายงานสภาพัฒน์ใช้คำว่ากลุ่ม Waithood มาจากคำว่า Wait รอคอย กับ Adulthood เมื่อนำมารวมกันเป็น Waithood แล้ว แปลว่า ช่วงวัยแห่งการรอคอย...รอทุกอย่างตั้งแต่รอคนรัก รอการงานที่มั่นคง รอความสำเร็จ ฯลฯ

ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขของกลุ่มนี้ที่กลุ่มใหญ่ถึงร้อยละ 62.6 เป็นเพศชายที่มีการศึกษาไม่สูงนัก และรายได้อยู่ในเกณฑ์น้อย จึงไม่มีความพร้อมที่จะแต่งงานและมีลูก รอไปรอมา...ในที่สุดพอเริ่ม พร้อมก็เลยวัยแต่งงานไปเสียแล้ว

จากรายงานข้างต้นนี้ ผมคงไม่มีข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมหรอกครับ ขอทำหน้าที่เป็นแค่คนกลางนำรายงานมาเผยแพร่ต่อ ฝากไปให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายช่วยกันคิดหาทางออก เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาใหญ่ของชาติในประเด็นนี้ด้วยก็แล้วกัน

ที่ผมเป็นห่วงอยู่ลึกๆก็คือ กลุ่ม SINK นั่นแหละครับ แม้จะย่อมาจากความหมายอื่นๆ แต่พอเอาตัวย่อมารวมกันกลายเป็น SINK ที่แปลว่า “จม” แล้วคนถือโชคถือลางอย่างผมก็ชักรู้สึกเป็นห่วงเท่านั้นเอง

ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ เพราะเกิดน้อยกว่าเสียชีวิตในแต่ละปี...อีกหน่อยก็จะเหลือแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่

จะไปแข่งขันกับใครเขาได้หนอ? การพัฒนาจะยั่งยืนไหมหนอ? และอะไรไม่อะไร...ประเทศไทยของเราจะ SINK หรือ “จม” แบบเรือผุๆ ลำหนึ่งไหมหนอ? ใน 60 ปีข้างหน้าที่เรา คาดไว้ว่า คนไทยเราจะเหลือแค่ 33 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบัน.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม