เขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มการระบายน้ำ 1,400 ลบ.ม. / วินาที ด้านกรมชลประทาน เผยเร่งพร่องน้ำรองรับฤดูน้ำหลากฝนตกหนักถึงพฤศจิกายน เตือนประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
วันที่ 1 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อนเพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะไหลลงมาสมทบ อีกทั้งยังมีการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปราการด่านสุดท้ายที่เป็นกุญแจสำคัญก่อนน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้แม้ว่าจะเร่งระบายมวลน้ำก้อนมหึมาที่มาจากอุทกภัยทางภาคเหนือ จะเป็นการระบายแบบขั้นบันได แต่ยังมีฝนที่ตกอยู่อย่างต่อเนื่องคอยเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นตามฤดูกาล จังหวัดท้ายเขื่อนฯ บางพื้นที่เริ่มมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมกันบ้างแล้ว
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,489 ลบ.ม. / วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.21 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.46 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 4.24 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,399 ลบ.ม. / วินาที ตรึงการระบายน้ำแตะ 1,400 ลบ.ม. / วินาที เป็นวันที่สองตามแผนกรมชลประทาน
...
ด้าน นายวิชัย ผันประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า สำหรับมวลน้ำในแม่น้ำยม ที่ จ.สุโขทัย จะเห็นได้ว่ามีปริมาณน้ำมากและไหลเร็ว หากมวลน้ำดังกล่าวไหลลงมายังแม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา การไหลของน้ำก็จะเป็นการทยอยไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา และจะมีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นตัวควบคุม
โดยทางกรมชลประทานได้มีการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำรายวันอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หากว่ามวลน้ำดังกล่าวไหลลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ทางกรมชลประทานได้มีการวิเคราะห์ และระบายน้ำไม่เกิน 1,400 ลบ.ม. / วินาที ซึ่งในส่วนนี้ทางพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มจาก 700 ลบ.ม. / วินาที ก็จะเริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และแม่น้ำน้อย ที่ อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นไป ในส่วนนี้ก็ต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนที่จะตกมากขึ้น โดยฝนดังกล่าวอาจจะตกต่อเนื่องไปถึงช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนด้วย
ทั้งนี้ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้ทางภาครัฐและเอกชนที่ประกอบกิจการในลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพรปลา รวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากช่วงนี้เข้าสู่ช่วงฤดูของน้ำหลาก ก็ขอให้เฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และหากได้รับผลกระทบก็สามารถประสานโครงการชลประทานในพื้นที่ และสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอด