จากความสำเร็จของสินค้า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ “จีไอ” ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ นำมาซึ่งการยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ให้กับผู้ผลิต และเกษตรกร
เห็นได้จากสินค้าจีไอหลายชนิดที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก เช่น ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ก่อนขึ้นทะเบียนลูกละ 150 บาท หลังขึ้นทะเบียนพุ่งสูงถึงลูกละ 500 บาท, ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์จาก กก.ละ 200 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 900 บาท, ผ้าไหมยกดอกลำพูนจากผืนละ 6,000-10,000 บาท เพิ่มเป็นผืนละ 22,500-100,000 บาท เป็นต้น
ส่งผลให้ปัจจุบันสินค้าจีไอ ทั้งในกลุ่มสินค้าอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรและสิ่งของเครื่องใช้ รวม 206 สินค้า สามารถสร้างรายได้กว่าปีละ 71,000 ล้านบาท
ทำให้ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” กระทรวงพาณิชย์ เร่งเดินหน้าส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ผลิต และเกษตรกร นำสินค้าอัตลักษณ์ของตนเอง มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไออย่างต่อเนื่อง
โดยในปีงบประมาณ 66 กรมได้ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนแล้ว 191 สินค้า และในปีงบ 67 มีแผนขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 21 สินค้าศักยภาพ ที่กรมได้ลงพื้นที่ไปเฟ้นหาสินค้าชุมชน ที่มีอัตลักษณ์ที่พร้อมส่งเสริมเป็นสินค้าจีไอ จากนั้นจะส่งเสริมให้ผู้ผลิต เกษตรกร จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
จนถึงขณะนี้ กรมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า เช่น ข้าวเบายอดม่วงตรัง, มังคุดทิพย์พังงา, ครุน้อยบ้านสะอางศรีสะเกษ, ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย, อะโวคาโดตาก, ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ, ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์, ทุเรียนหมอนทองระยอง, ปลิงทะเลเกาะยาว, ส้มควายภูเก็ต ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่มีอนาคตจะได้เป็นสินค้าจีไออีก เช่น เห็ดตับเต่า จ.พระนครศรีอยุธยา สินค้าขายดีของจังหวัด ที่ปัจจุบันมีผลผลิตกว่า 400,000 กิโลกรัม (กก.) และขายได้ราคาดีมากๆ
...
โดยเห็ดสดหน้าสวน กก.ละ 150 บาท ส่วนเห็ดแห้ง ราคาสูงถึง กก.ละ 3,500 บาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเห็ดได้รวมปีละกว่า 10 ล้านบาท
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาเกษตรกรผู้เพาะเห็ด วิสาหกิจชุมชนเห็ดตับเต่าคลองโพธิ์ องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนได้สำเร็จ หากขึ้นทะเบียนได้แล้ว จะกลายเป็นสินค้าจีไอรายการที่ 2 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อจาก “ละมุดบ้านใหม่” ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เกือบปีละ 5 ล้านบาท
ชุมชนใดที่มีสินค้าอัตลักษณ์ อย่าลังเล ขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.สายด่วน 1368.
ฟันนี่เอส
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม