บทที่ 10 ในฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (เจ้าหยุย ขุนนางราชวงศ์ถัง เขียน อธิคม สวัสดิญาณ แปล เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549) ชื่อเรื่อง จริยธรรมของขุนนาง

ขุนนางสามารถคาดการณ์ล่วงหน้า มองเห็นผลได้ผลเสีย วิกฤติแห่งการดำรงหรือล่มสลายของอาณาจักร อีกทั้งสามารถเตรียมการป้องกันล่วงหน้า ช่วยให้จักรพรรดิพ้นภยันตราย อยู่เป็นมิ่งขวัญพสกนิกร ก็คือ ขุนนางปราชญ์

ขุนนางซื่อสัตย์จงรักภักดี ถวายคำแนะนำบนวิถีแห่งธรรม ช่วยจักรพรรดิเคารพขนบจารีต ยึดมั่นเมตตาคลองธรรม ถวายกุศโลบายที่ดีเยี่ยม นโยบายถูกต้อง แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดโดยไม่เหนื่อยหน่าย ก็คือ ขุนนางมโนธรรม

ขุนนางที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอนดึกตื่นเช้า แนะนำคนดีมาช่วยทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง มักยกตำนานเมธีกษัตริย์ และปราชญ์สมัยโบราณ ให้กำลังใจองค์จักรพรรดิเสมอ ก็คือ ขุนนางภักดี

ขุนนางที่มองเห็นความปราชัยและอัปราชัยล่วงหน้า หาทางป้องกันกอบกู้สถานการณ์ พลิกจากแพ้เป็นชนะ อุดช่องโหว่ ขจัดรากเหง้าแห่งภัย เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี จักรพรรดิรอดพ้นภยันตรายคลายกังวล ก็คือ ขุนนางที่มีสติ

ขุนนางที่มองเห็นแก่ส่วนรวม รักษากฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ใช้ชีวิตแบบสมถะ มัธยัสถ์ ไม่รับสินบน ก็คือ ขุนนางสุจริต

ขุนนางที่ไม่ประจบสอพลอ กล้าถวายคำทัดทานอย่างตรงไปตรงมา กล้าวิจารณ์จุดอ่อน ข้อบกพร่องขององค์จักรพรรดิต่อหน้าพระพักตร์ ในยามที่พระองค์ทรงสติเลอะเทอะ หลงผิดเป็นถูก ก็คือ ขุนนางซื่อตรง

บทสรุปความประพฤติขุนนาง 6 ประเภทนี้ เจ้าหยุยใช้คำว่า คือขุนนางดีงาม คนอ่านอย่างผมก็สงสัย หือ! ทำไมไม่มีคำ “จริยธรรม” สักคำ หรือจะให้คิดว่าจริยธรรม คือความดีสถานเดียว

เพื่อให้แน่ใจ จึงต้องอ่านต่อ

...

ขุนนางที่ทุจริต รับสินบาทคาดสินบน กินตามน้ำ ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ คอยเออออคล้อยตาม คือ ขุนนางขี้ฉ้อ

ขุนนางที่นายว่าก็ว่าตาม คอยยกยอปอปั้น แอบสืบเสาะดูว่าองค์จักรพรรดิชอบสิ่งใด ก็หาถวายประจบ ชักนำให้พระองค์หมกมุ่นมัวเมาสุรานารี ก็คือ ขุนนางสอพลอ

ขุนนางหน้าเนื้อใจเสือ ขี้ริษยา คอยให้ร้ายปราชญ์ จะสนับสนุนใครก็รายงานแต่ความชอบ จะผลักไสใครก็รายงานแต่ข้อบกพร่อง ทำให้การให้บำเหน็จและการลงโทษไม่เป็นธรรม ก็คือ ขุนนางกังฉิน

ขุนนางที่ชอบกลับถูกเป็นผิด กลับดำเป็นขาว ชอบยุแหย่พระบรมวงศานุวงศ์ ยุแหย่จักรพรรดิกับขุนนาง ทำให้หวาดระแวงซึ่งกันและกัน ก็คือ ขุนนางยุแยก

ขุนนางที่ใช้อิทธิพลรวบอำนาจ ชอบทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ตั้งกลุ่มก๊วน เบียดบังผลประโยชน์ส่วนรวม ฉ้อราษฎร์บังหลวง อาศัยจักรพรรดิแสวงประโยชน์ใส่ตัว ก็คือ ขุนนางโจร

ขุนนางปั้นเรื่องหยาบช้าให้ร้ายจักรพรรดิ คบคิดปิดบังพระเนตรพระกรรณ ทำให้จักรพรรดิทรงสติเลอะ ไม่ทราบถูกผิด ไม่ยึดมั่นในเมตตาคลองธรรมเป็นที่ครหานินทาของพสกนิกร เป็นที่เย้ยหยันไยไพของชนต่างด้าวท้าวต่างแดน ก็คือ ขุนนางสิ้นชาติ...

ที่กล่าวมาทั้ง 6 ประเภทนี้ คือ ขุนนางเลวร้าย

รู้จัก 6 ขุนนางดี 6 ขุนนางเลวแล้ว ผมต้องทำความเข้าใจใหม่ “จริยธรรม” ที่ใช้กับขุนนาง น่าจะหมายรวมทั้งขุนนางที่ทำดี และขุนนางที่ไม่ทำชั่ว นอกจากไม่ผิดศีลห้าคือเบญจศีลแล้ว ยังต้องทำดีห้าข้อ คือถือเบญจธรรมด้วย

ข้อย้ำ ทบทวนความจำ ขุนนางดีและขุนนางเลวที่ว่ามา เป็นขุนนางในสมัยราชวงศ์ถัง 1,200 ปีที่แล้ว อย่าเผลอสับสนปนกับขุนนางในบางบ้านเมืองสมัยใหม่ ที่กำลังโกลาหลหากันในวันสองวันนี้.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม