ประเทศไทยกำลังเผชิญ “การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมรุนแรง” เป็นปัญหาใหญ่ก่อเกิดปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ กระทบสิ่งแวดล้อม-คนอาศัยในพื้นที่ ยากจะประเมินเป็นความเสียหายได้
กลายเป็นความกังวลนำมาสู่เสวนาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อมโจทย์ท้าทายที่สังคมไทยต้องรับมือให้ได้ จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเพื่อถอดบทเรียนหาทางป้องกัน จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า
ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สตช.ร่วมกันทำคดีทิ้งกากอุตสาหกรรมในไทยน่าจะติดอันดับโลกได้ เพราะครอบคลุมหลายพื้นที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งบนดิน และใต้ดิน สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ปัจจัยมาจาก “ประเทศไทย” มีการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการลงทุนอำนวยความสะดวกให้ “นักลงทุน” ขณะที่การพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมกลับไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการที่คิดจะทำผิดเกิดความกลัว เพราะมีโทษเพียงแค่ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือบางครั้งเปรียบเทียบคดีได้อีก ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครติดคุกเรื่องนี้
ดังนั้นการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม “โทษเบามาก” แถมการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดเพียงพอ เช่นนี้การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องก่อให้เกิดความสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะหากเร่งพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไปจนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมตามไม่ทันก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
...
ถ้ามาดู “คดีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม” ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีอยู่ 6 หมื่นกว่าแห่ง และโรงงานกำจัดกากของเสียมีอยู่ 2 พันกว่าแห่ง แต่ในช่วง 2 ปีมานี้มีโรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานต้องลงพื้นที่ตรวจสอบเข้มงวดกว่าเดิม จนสามารถดำเนินคดีผู้ทำผิดทิ้งกากอุตสาหกรรมหลักสิบราย
หากคดีโรงงานทั่วไปปี 2565 ดำเนินคดี 412 คดี และปี 2566 มีอยู่ 1,341 คดี จึงเห็นได้ว่ามีส่วนน้อยที่ทำผิด “แต่ส่วนน้อยนี้กลับมีผลรุนแรง” ส่วนกระบวนการดำเนินคดีมักใช้เวลา 4-5 ปีจึงจะสามารถลงโทษผู้ทำผิดได้
เช่นนี้ทำให้ปีที่แล้ว “ออกกำหนดภาระความรับผิด” ด้วยการประกาศกฎกระทรวง “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือเป็นผู้รับผิดชอบ” โดยกฎหมายนี้บังคับเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2566 ทั้งยังจะแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
ตามความใน ม.39 วรรค 3 กรณีโรงงานก่อเกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนแก่บุคคล เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้สั่งแก้ไขปรับปรุงในเวลาที่กำหนดได้ และให้ถือว่าผู้นั้นมีฐานะเสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะดำเนินการตามคำสั่งแล้วเสร็จ ซึ่งเดิมมิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ ทำให้ไม่สามารถสั่งการภายหลังที่ออกคำสั่งได้
ทั้งยังจะ “ตั้งกองทุนอุตสาหกรรม” มีวัตถุประสงค์นำใช้แก้ไขผลกระทบที่เกิดกับประชาชนที่นำเงินมาจากค่าธรรมเนียมรายปี ค่าเทียบปรับคดี สัญญาสัมปทานรวม 400 ล้านบาท ไม่เท่านั้นยังมี “หลักประกันความเสียหาย” เก็บค่าความเสี่ยงจากโรงงาน 10 เท่าของค่าธรรมเนียมหากเลิกกิจการโดยไม่ก่อความเสียหายก็จะคืนเงินให้
นอกจากนี้ยัง “แก้ไขบทลงโทษ” ด้วยตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ ม.45 ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม ม.8 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และอายุความ 1 ปี “คดีมีความเสี่ยงขาดอายุความ” จึงเสนอให้เพิ่มโทษจำคุกมีเจตนาขยายอายุความของคดีได้ ทั้งยังกำหนดฐานเพดานค่าปรับสูงขึ้น เพื่อให้คนคิดจะทำผิดเกรงกลัวต่อกฎหมาย
ขณะที่ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. บอกว่า คดีลักลอบทิ้งกากของเสียรุนแรงคงหนีไม่พ้นเหตุเพลิงไหม้โรงงานกำจัดสารเคมีใน จ.ระยอง เพราะการสืบสวนมีความสัมพันธ์กับเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี อ.ภาชี จ.พระนครอยุธยา แถมเชื่อมโยงกับการทิ้งกากของเสียใน อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ ต.กลางดง จ.นครราชสีมา
เหตุเพลิงไหม้ทั้ง 2 แห่งเกิดขึ้น 3 ครั้ง “มีหลักฐานชัดเป็นการวางเพลิงโกดังใน อ.ภาชี 1 ครั้ง” ส่วนอีก 2 นั้นอยู่ระหว่างสอบสวนหาพยานหลักฐาน เพราะทำผิดกันเป็นขบวนการเกี่ยวข้องกับความผิดในหลายพื้นที่
หนำซ้ำ “ผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย” มีการปลอมแปลงเอกสารผลตรวจห้องแล็บ 2,000 ครั้ง และเอกสารการขนส่งไม่น้อยกว่า 1,000 ครั้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างมาก ดังนั้นจะเร่งให้คดีส่งฟ้องศาลได้ในเดือน ส.ค.2567 ส่วนหลังจากนี้ถ้ามีการตรวจพบหลักฐานใหม่ก็จะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม
ประเด็นมีอยู่ว่า “ที่ผ่านมาคดีลักลอบทิ้งกากของเสียไม่เคยนำตัวเจ้าของโรงงานมาลงโทษ” ในเรื่องนี้หากสามารถนำเจ้าของโรงงานมาดำเนินคดีได้ก็จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นเกิดความเกรงกลัวได้ ดังนั้นต่อไปนี้สิ่งที่เรากำลังจะทำคือ “ต้องนำเจ้าของโรงงาน หรือกรรมการผู้จัดการ” มาลงโทษจำคุกให้ได้
...
เรื่องถูกตั้งขึ้นมาตอนเริ่มทำคดีเหตุเพลิงไหม้โรงงานใน จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมี อ.ภาชี เพราะโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเป็นโทษ “ปรับ” แต่ถ้าย้อนดูประวัติโรงงานกำจัดสารเคมีใน จ.ระยอง ก่อนเกิดเพลิงไหม้นั้น “ศาล” เคยมีคำสั่งลงโทษไปแล้วแต่ยังดำเนินการลักลอบฝังกลบ หรือรับของเสียมากำจัดอีก
เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ “ต้องนำกฎหมายอาญา” มาบังคับใช้ตาม ป.อ.ม.237 ผู้ใดเอาของมีพิษ หรือสิ่งอื่นน่าจะเป็นอันตรายเจือลงอาหาร ในน้ำ บ่อ สระ ที่ขังน้ำ เพื่อประชาชนบริโภค มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี ทั้ง ม.238 ผู้ทำผิดตาม ม.226-237 เป็นเหตุให้คนอื่นตายต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
“เรื่องนี้มีการคุยกับอัยการ จ.ระยอง ยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยเบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิดลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้รวมถึงออกหมายจับแล้ว 10 คน และคดีนี้เท่าที่ดูตามสำนวนคาดว่าในชั้นศาลผู้ต้องหาน่าจะถูกคำพิพากษาจำคุกอย่างต่ำ 100 ปี หรือไม่ก็ 1,000 ปี” พล.ต.ท.ธัชชัยว่า
ประการต่อมา “ตำรวจจะตั้งประเด็นดำเนินคดีเจตนาฆ่าด้วย” เพราะตามที่ลงพื้นที่ดูโรงงาน อ.ภาชี เห็นบ่อน้ำมีกรดสูง จึงนำไก่ลงแช่เพื่อหาหลักฐานใช้ในชั้นศาล พบว่าไก่สุกสะท้อนให้เห็นกรดนั้นอันตรายมาก
ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยอมให้ “เศรษฐกิจเติบโต” ขณะที่ประชาชนต้องเผชิญความเจ็บป่วย หรือรับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งของเสียอย่างกรณีชาวบ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง “ทนไม่ไหวต้องย้ายออกพื้นที่ไป” เช่นนี้ย่อมไม่คุ้มค่าต่อการตั้งโรงงานที่ต้องนำชีวิตคนมาแลกสภาพแวดล้อมเลวร้ายนี้
...
ย้ำอยากให้สบายใจว่า “หน่วยงานรัฐ” กำลังพิจารณาลงโทษผู้ทำผิดต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง โดยเฉพาะคดีใน จ.ระยอง จะเป็นคดีตัวอย่าง “นำเจ้าของโรงงาน” มาติดคุกอาจจะถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตก็ได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม