วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ...จะเป็นบันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศคิกออฟ “30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ” เป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 พุ่งเป้าให้ความสำคัญ ยกระดับ “บริการสุขภาพ” สิทธิผู้ป่วย “บัตรทอง”

ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนที่แล้วในการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขและการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 “บอร์ด สปสช.” ได้เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์ จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้...

1.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2545

2.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567

3.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องกำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พ.ศ.2567

4.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ประเด็นสำคัญ...ภาพรวมเนื้อหาร่างประกาศสองฉบับแรก เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม.

...

สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ เทพสุทิน

กรณีที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรองและติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นี้ว่า ภายใต้โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” กรุงเทพมหานครจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46

หลังได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมที่จะให้ “บริการ” ในพื้นที่กรุงเทพฯได้ ซึ่งจะมีการคิกออฟที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี

โดยได้รับเกียรติจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมจะมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ โลโก้... “30 บาทรักษาทุกที่”

เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการของหน่วยบริการทั่วประเทศ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับบริการของประชาชน

ครั้งนี้...จะเป็นการตอกย้ำการเดินหน้านโยบายนี้ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังจะมอบป้ายและโล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทให้ผู้แทน 7 หน่วยนวัตกรรมบริการ พร้อมฟังปาฐกถาพิเศษ “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” เพื่อให้เห็นการผลักดันโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

น่าสนใจว่า...ทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในระดับนโยบาย ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย พร้อมเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึง “สิทธิ” และ “บริการ” ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ในส่วน “สปสช.” ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ กทม. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่า ที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการภายใต้บทบาทและหน้าที่ของ สปสช. ทั้งการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม...ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ การจัดหา...หน่วยบริการทุติยภูมิเพิ่มเติม

...

เพื่อลด “ความแออัด” หน่วยบริการตติยภูมิ...ยกระดับ Contact Center “1330” เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนและหน่วยบริการ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่ กทม.เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก

รวมถึงการจัดระบบสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ส่วนการเข้ารับบริการของประชาชน นอกจากการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ...ประจำ ตามสิทธิของท่านแล้ว ยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม 7 แห่ง ประมาณ 1,500 แห่ง

โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ที่จะมีการเปิดตัว ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น

นอกจากนี้...ยังมีการเพิ่มเติมบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดความแออัดได้อีก เช่น บริการการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และตู้เทเลเมดดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน

ลงลึกในรายละเอียด...ในส่วนของ “โรงพยาบาลรัฐ” สังกัดต่างๆนั้นจะเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้ “ใบส่งตัว” ทั้งในรูปแบบกระดาษและใบส่งตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเตรียมการรองรับไว้

ย้ำว่า...นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน “กทม.” เป็นการเข้ารับบริการเฉพาะกรณีที่ปฐมภูมิเท่านั้น อย่า...เข้าใจว่าไปที่ไหนก็ได้หรือมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม