จากกรณีปัญหาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางลดเบี้ยประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) นั้น เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 นายอรรถพล ตรึกตรอง อดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า ในสมัยที่ตนปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ในช่วงปี พ.ศ.2562 มีข้อเรียกร้องจากครูฯซึ่งกู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ให้จัดหาบริษัทประกันชีวิตมาประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ในราคาถูกลงจากอัตราค่าเบี้ยประกันเดิมตอนเริ่มโครงการ 620 บาท/ปี/ทุนประกัน 100,000 บาท ทุกกลุ่มอายุ ประกอบกับตนเห็นพ้องด้วยว่า อัตราค่าเบี้ยประกันควรถูกลง และควรจำแนกกลุ่มอายุและเพศ ใครอายุมากมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมาก ก็ต้องจ่ายแพงกว่าคนหนุ่มกว่า และเพศหญิงมีความเสี่ยงน้อยกว่าก็ควรจ่ายในราคาถูกกว่า

ดังนั้น ตนจึงได้เจรจาร่วมกับธนาคารออมสินและมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยมีตนเป็นประธาน มีกรรมการฝ่าย สกสค. 4 คน ธนาคารออมสิน 4 คน รวมทั้งมีฝ่ายกฎหมายของ รมว.ศธ. 1 คน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 1 คน มาเป็นที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาทำข้อตกลง (TOR) เกี่ยวกับการคัดเลือกบริษัทประกันสินเชื่อ ช.พ.ค. ซึ่งมีหลายบริษัทสนใจเสนอตัวเข้ามารับการพิจารณา บางบริษัทเสนอราคาเบี้ยประกันเพียง 400 บาท/ปี/ทุนประกัน 100,000 บาท

“กระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าธนาคารออมสินจะเป็นฝ่ายจัดการประมูลหาบริษัทประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ที่คิดเบี้ยประกันถูกที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิก และผมก็ถูกสั่งให้ยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ภายหลังทราบว่ามีการขึ้นราคาเบี้ยประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.อีกต่างหาก” นายอรรถพลกล่าว.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่