“เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เราได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT หรือน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทยเครื่องแรก ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ความสำเร็จนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าของไทย ในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่ต้องการกระตุ้นปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มผ่านความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย”

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกถึงที่มาของหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ที่นอกจากลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการอุดหนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมันไทย

เพราะน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมี เป้าหมาย ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ และเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

...

EnPAT มีคุณสมบัติเด่นคือจุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 °C ช่วยป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างมาตรฐานของประเทศที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากปาล์มน้ำมัน การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี และส่งเสริมการใช้งานภายในประเทศ มาตรฐานที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ ผลการทดสอบการนำร่องใช้งานน้ำมัน EnPAT ในครั้งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

สำหรับแนวทางการผลักดันให้เกิดการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานที่ 1 การใช้งาน EnPAT ในหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ เครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. ขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจากการไฟฟ้านครหลวง และขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เข้าไปในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะเปิดให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ามีโอกาสได้ใช้งาน EnPAT ในหม้อแปลงไฟฟ้าแบบต่างๆ

สำหรับแผนงานที่ 2 เป็นการนำ EnPAT ไปใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้าเดิม เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าส่วนใหญ่จะบรรจุด้วยน้ำมันแร่ และเมื่อถึงวงรอบในการซ่อมบำรุง จะต้องมีการเปลี่ยนเอาน้ำมันแร่ที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่น้ำมันหม้อแปลงใหม่เข้าไปทดแทน

...

และแผนงานที่ 3 คือความพยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

ทั้งนี้ การนำร่องใช้ “EnPAT” เป็นความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย สวทช., ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช., หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม