ผมกำลังว้าวุ่น หลังฟังคำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาให้คุณเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ พอดีเหลือบไปเห็น หนังสือ ช.ช้าง กับ ฅ ฅน (ศรัณย์ ทองปาน เขียน สำนักพิมพ์ สารคดี พ.ศ.2550) ก็คว้ามาเปิดอ่าน

เจอหัวข้อ ยศช้าง ขุนนางพระ...เห็นว่า นี่เป็นความรู้เก่า ที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้ก็อยากจะให้รู้กันไว้

ข้าราชการไทยสมัยศักดินา จะได้รับยศและราชทินนาม ยศได้แก่ ขุน หลวง พระ พระยา (ถ้าเรียกไม่เป็นทางการนัก ก็คือ ท่านขุน คุณหลวง คุณพระ เจ้าคุณ)

ส่วนราชทินนามก็คือ ชื่อเพราะๆประจำสำหรับตำแหน่งนั้นๆ

เช่นนายเฉิ่ม ถ้าได้เป็นข้าราชการในกรมช้างต้น ก็อาจจะกลายเป็นขุนคชสารบำรุง

โดยนัยนี้ ช้างหลวงซึ่งถือว่ารับราชการอยู่กับในหลวง ก็อาจจะได้รับยศและราชทินนาม อย่างเช่นช้างเผือก เมื่อขึ้นระวางแล้วก็มักจะได้เป็นคุณพระ และมีราชทินนามว่า คุณพระเศวต (เศวต แปลว่า ขาว ก็คือช้างเผือก)

ต่อด้วยสร้อยพระนาม พรรณนาความเจริญความดีต่างๆ เป็นคำสัมผัสคล้องจอง

ตามราชประเพณี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ช้างเผือกมักมีราชทินนามว่า พระเศวต แล้วลงท้ายด้วยคำว่า เลิศฟ้า

นอกจากยศและราชทินนามแล้ว ขุนนางไทยสมัยก่อนจะได้รับเครื่องประกอบยศศักดิ์ ซึ่งก็คือข้าวของเครื่องใช้ เช่น ผ้านุ่ง เชี่ยนหมาก ชุดน้ำชา แต่ทำหรูหราพิสดารขึ้นไปตามลำดับชั้น ยิ่งชั้นสูงก็จะได้เป็นเงินเป็นทอง

ช้างเผือกก็จะมีเครื่องยศเหมือนกัน

ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยสมัยก่อนๆเคยบันทึกว่า เวลาไปดูช้างเผือก เห็นว่าต้องกินน้ำในพานทอง

ถ้าหากข้าราชการทำดีอาจได้สองขั้น ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง อย่างขุนคชสารบำรุง (เฉิ่ม) ถ้ามีความดีความชอบถึงขนาด ก็อาจได้เป็นพระยากุญชรรักษา เจ้ากรมช้าง

...

เช่นเดียวกัน ถ้าช้างศึกออกสู่สงครามแล้วนำแม่ทัพไปรบชนะศัตรู ก็จะได้เลื่อนยศขึ้นไปด้วย

แน่นอนว่า ถ้าพาไปขาดสะพายแล่ง ก็คงอด

เหมือนอย่างในพระราชพงศาวดารบันทึกว่า ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทีแรกชื่อพลายภูเขาทอง ต่อมาขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาไชยานุภาพ แต่เมื่อผ่านยุทธหัตถีครั้งประวัติศาสตร์ พ.ศ.2135

ก็ได้เปลี่ยนราชทินนามใหม่เป็น เจ้าพระยาปราบหงสาวดี

ในภาษาไทยมีสำนวน ยศช้าง ขุนนางพระ ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเกียรติยศที่ไม่มีความหมาย เพราะไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ใดได้

แต่ในอีกทางหนึ่ง สำนวนนี้ก็จะมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น คือหมายถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ตน

เช่น ถึงจะได้ยศถาบรรดาศักดิ์อย่างไร ช้างก็ยังเป็นช้างอยู่เหมือนเดิม

กินหญ้ากินน้ำไปตามวิสัย

เครื่องยศหรือราชทินนามอันใด ก็คงไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก สำหรับช้าง

เช่นเดียวกับพระเถระ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคุณ หรือราชทินนามอันไพเราะต่างๆก็ย่อมไม่ยังประโยชน์โภชผลอันใดแก่สมณะ ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ

เป็นอันว่า ผมก็พลอยได้ความรู้เรื่องยศช้าง ขุนนางพระไปพร้อมๆกับท่านผู้อ่าน

เมื่อนึกถึงคุณเศรษฐา ตำแหน่งผู้นำที่ได้มาหนึ่งปี เท่าที่ฟังๆรู้ๆกัน เขาก็ว่ากันว่า ตำแหน่งใหญ่ที่ได้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากช้างหรือพระซักเท่าไหร่!

ตำแหน่งที่ได้ก็ได้มาด้วยทุนและเรี่ยวแรงของใครคนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาก็หลุดไป ก็พอเข้าใจก็หลุดไปเพราะใครคนนั้น ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ผู้คนเขารู้กันทั้งบ้านเมือง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม