ในบรรดาสินค้า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือสินค้าจีไอ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 206 รายการ ซึ่งถือเป็นของดี ของเด่น ของดัง ที่มาจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศนั้น
มีสินค้าที่เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 169 สินค้า ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงศักยภาพที่จะนำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารประจำบ้าน หรือประจำร้านอาหารได้
เพราะสินค้าจีไอเหล่านี้ เป็นสินค้าพิเศษที่ผลิตได้จากเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมนูอาหาร หรือบอกเล่าเรื่องราวของอาหารที่มีความพิเศษได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างสินค้าจีไอกลุ่มนี้ เช่น ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้, ไข่เค็มไชยา, มะพร้าวเกาะพะงัน, ปลาสลิดบางบ่อ, เนื้อโคขุนโพนยางคำ, ทุเรียนหมอนทองระยอง, มะขามหวานเพชรบูรณ์, กุ้งก้ามกรามบางแพ, มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว, ไชโป้วโพธาราม, อะโวคาโดตาก ฯลฯ
กรมจึงร่วมกับเชฟระดับมิชลินนำสินค้าจีไอมาเป็นวัตถุดิบรังสรรค์เป็นเมนูอาหารในร้านอาหารระดับมิชลิน และระดับ Fine Dining เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สินค้าจีไอ เป็นที่รู้จักในแวดวงกูรูอาหารระดับประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในวงการอาหาร นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารต่างๆ ซึ่งปีนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว
โดยมีเชฟชื่อดังหลายคน ที่คนไทยรู้จักกันดี อย่าง เชพเอียน ร้าน Akanee, เชฟชุมพล ร้าน R.HAAN นำสินค้าจีไอมาใช้เป็นวัตถุดิบแล้ว เช่น ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา, เนื้อโคขุนโพนยางคำ, กุ้งก้ามกรามบางแพ, มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี, ทุเรียนปราจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมยังร่วมมือกับ “Gourmet & Cuisine” นิตยสารอาหารและไลฟ์สไตล์ชั้นนำของไทย ที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหาร เมนูอาหาร รวมถึงสูตรอาหารต่างๆ เพื่อให้เป็นสื่อกลางสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าจีไอ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหาร ได้เห็นคุณค่าของสินค้าจีไอ และช่วยสนับสนุนให้ใช้สินค้าจีไอเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารด้วยเช่นกัน
...
การดำเนินการนี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าจีไอไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และช่วยผลักดันให้วงการอาหารไทย โดยเฉพาะร้านอาหาร Fine Dining มองหาสินค้าจีไอไทยที่มีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิต นำมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารที่สะท้อนถึงที่มาอัตลักษณ์ และความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าจีไอไทย รวมถึงยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว 206 สินค้า และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอีก 8 สินค้า ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนผู้ผลิต เกษตรกร และผู้ประกอบการไทยได้มากกว่าปีละ 71,000 ล้านบาท
เราคนไทยช่วยกันอุดหนุนสินค้าจีไอของไทย เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีความพิเศษเช่นนี้ต่อไป.
ฟันนี่เอส
คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม