“อย่าประมาทแม้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือโควิดไปแล้ว”...สำหรับโควิดวัคซีน มีการสรุปในวารสาร BMC medicine (5 มิ.ย.67) ว่าไม่สามารถกันติด ไม่สามารถกันแพร่ได้
และ...นอกจากนั้นรายงานในวารสาร British Medical Journal ยังสังเกตว่า แม้เมื่อมีการ “ฉีดวัคซีน” ไปแล้วแต่อุบัติการเสียชีวิตสูงเกินผิดปกติที่ผ่านมาในซีกโลกตะวันตก 47 ประเทศ ยังสูงมากกว่าธรรมดา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ที่ปรึกษา วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ตั้งแต่ปี 2020 แม้มีการใช้วัคซีนในวงกว้าง รวมทั้งมีมาตรการควบคุมต่างๆ และการตายสูงผิดปกติเช่นนี้ยังคงปรากฏจนกระทั่งถึงปี 2024 ดังรายงานต่อมาแม้กระทั่งการวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศไทยเอง
โดยทั่วโลกจึงเริ่มสังเกตเห็นการตายกะทันหันเฉียบพลันช่วยชีวิตไม่ทันแม้ในวัยรุ่นคนอายุน้อยจนกระทั่งคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือคุมได้ดีมาตลอด รวมถึงภาวะสมองเสื่อม อย่างที่มีรายงานจากประเทศเกาหลีในปี 2024 นี้ และภาวะจิตอารมณ์หดหู่แปรปรวนที่รายงานจากประเทศเกาหลีเช่นกัน
...
สำหรับ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” เป็นการย้อนวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันในปี 2023 ในผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารที่ไม่ได้ประจำการ US Veterans Administration ในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวของปี 2022 และ 2023
พบว่า “ผู้ป่วย” ที่เข้าโรงพยาบาลเพราะ “ไข้หวัดใหญ่” หรือเพราะ “โควิด” โดยทั้ง 2 โรค มีอาการเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจเหมือนกัน และมีสัดส่วนของการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพอๆกัน ตามคะแนนความโน้มเอียง (propensity score weighting) คือ 55.43% สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
และ 54.54% สำหรับวัคซีนโควิด
ตามข้อมูลรายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน กล่าวว่า “วัคซีนโควิด” นั้นมีประสิทธิภาพ 90% และวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพ 50% ในการป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาลได้
ดังนั้น...จำนวนของ “ผู้ป่วย” ที่เข้าโรงพยาบาลที่เกิดจากแต่ละโรคนั้นควรจะต่างกันชัดเจน ผลปรากฏว่า...คนที่เข้าโรงพยาบาลจากโควิดจากทั้งหมด 8,996 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้วถึง 79.27% ไม่ได้รับ 20.73% โดยยังได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 36.16%
และ...ถ้า? วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพจริงที่สามารถป้องกันคนจากการเข้าโรงพยาบาลจากโควิด 90% ควรจะมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 69.96% แทนที่จะเป็น 20.73%
สำหรับคนที่เข้าโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ในจำนวน 2,403 ราย ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 61.88% และไม่ได้รับ 38.12% และได้รับวัคซีนโควิด 81.11%
และถ้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดที่ป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาล คือ 50% จำนวนคนที่เข้าโรงพยาบาลเพราะไข้หวัดใหญ่ ควรจะไม่ได้รับ...วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 53.11% แต่ความเป็นจริงไม่ได้รับ 38.12%
ถึงตรงนี้คณะผู้รายงานได้เสนอว่าการติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนที่น่าเชื่อถือนั้นต้องทำการติดตามเมื่อนำมาใช้แล้ว และดูข้อมูลตรงของการเจ็บป่วยที่อาการหนักเข้าโรงพยาบาล โดย ผู้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน...อาจใช้ข้อมูลตามรายงานทั่วไป ในวารสารอย่างเดียวไม่ได้
“รายงานต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจว่า...วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสามารถป้องกันอาการหนักเข้าโรงพยาบาลได้ตามที่ประสงค์”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า การระมัดระวังตนเองป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นเมื่อรู้สึกไม่สบาย ต้องแยกตัวพองามใส่หน้ากากและที่สำคัญคือใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดตามที่กำหนดในฉลากของแต่ละยี่ห้อ ทานทันทีที่เริ่มมีอาการไม่ใช่รอจนกระทั่งอาการชัดเจนสุกงอมหรือรอจนกระทั่งทราบว่าเป็นชื่อเชื้ออะไรแน่แล้วทาน
“...ทานตามขนาดที่กำหนดติดต่อกันห้าวัน ข้อมูลความปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกต้องไม่พบตับอักเสบตามที่กลัว”
...
ถัดมา...องค์การอนามัยโลกประกาศ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว อีกเรื่องร้อนๆที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่อีกหนึ่งโรคเฉพาะถิ่นในทวีปแอฟริกากลาง และค่อยเคลื่อนมายังแอฟริกาตะวันตก ซึ่งอธิบายได้จากความอดอยากแร้นแค้น การ สงคราม นับรวมไปถึงการย้ายถิ่นฐานและการสัมผัสกับสัตว์เฉพาะถิ่น
ลักษณะ...ปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติธรรมดาของฝีดาษลิงที่แพร่ได้ง่ายกว่าธรรมดาในมนุษย์แต่ยังไม่มีความรุนแรงมากแต่มีแผลพุพองได้ในเฉพาะที่บางส่วนหรือกระจาย ความจริงเริ่มตั้งแต่ในปี 2017-2018 ในอัตราการแพร่ R0 ยังอยู่ที่ 0.7 ไม่ถึงหนึ่ง...ซึ่งจะแสดงว่าการแพร่กระจายนั้นจะคงอยู่ระยะหนึ่งและสงบ
ในช่วงเวลาถัดมามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆชัดเจนในปี 2022 ทั้งๆ ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปทวีปหรือประเทศต้นกำเนิดหรือมีประวัติสัมผัสกับคนที่กลับมาจากประเทศทวีปแอฟริกาหรือสัมผัสกับคนที่ร่วมในเทศกาลไพรด์ด้วยซ้ำ...และจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสามทวีปในกว่า 15 ประเทศ...ภายในเวลาสามสัปดาห์
น่าสนใจว่า...ลักษณะการแพร่จากคนสู่คนเก่งขึ้น หาความเชื่อมโยงไม่ได้และลักษณะของโรคคล้ายปรับเปลี่ยนให้สังเกตยากขึ้น...มีผื่น ตุ่ม หลายระยะพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แทนที่จะเกิดเป็นลักษณะเดียวและค่อยๆเปลี่ยนเป็นลักษณะอื่น รวมถึงรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากที่พบในปี 2017 มากกว่า 40 ตำแหน่ง
...
“การที่มีการปรับเปลี่ยนใน 47 ตำแหน่ง ภายในช่วงระยะเวลาสามถึงสี่ปี จัดเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด...การวิวัฒนาการในลักษณะเช่นนี้อาจต้องใช้เวลามากกว่า 50 ปีด้วยซ้ำ”
ปุจฉาสำคัญที่ต้องติดตามก็คือไวรัสฝีดาษลิงจะเป็นอีกมหันตภัยร้ายฝีมือมนุษย์ที่ปรับเปลี่ยนพันธุกรรมฝืนธรรมชาติ... แพร่ระบาดในมนุษย์อย่างเงียบๆมานานพอสมควรแล้วหรือไม่?
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม