วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2567 ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “แม่แห่งแผ่นดิน” ของปวงชนชาวไทย ซึ่งจะพร้อมใจกันจุดเทียนถวายพระพรชัยพร้อมเปล่งเสียงขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ทั่วประเทศในค่ำวันนี้
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะพี่น้องชาวชนบทที่ยากจน ที่ทรงห่วงใยสูงสุดและพระราชทานโครงการในพระราชดำริหลายต่อหลายโครงการไปช่วยเหลือเจือจุน
เหนืออื่นใดทุกๆวันที่ 11 สิงหาคม วันสุกดิบก่อนวันเฉลิมพระชนม พรรษา 12 สิงหาคม 1 วัน จะทรงเปิดศาลาดุสิดาลัยในพระตำหนัก จิตรลดาให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ พร้อมกับทรงเล่าถึงงานต่างๆที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตลอดทั้งปี โดยมีการออกอากาศทางโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วประเทศ...ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำของปวงชนชาวไทย
หลายๆพระราชดำรัส และหลายๆพระราชดำริ หรือพระราช ปรารภ ณ วันที่ 11 สิงหาคม ได้กลายเป็นโครงการที่ดีงามทันสมัยสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกมาจนถึงบัดนี้
รวมทั้งโครงการ “วุฒิอาสาธนาคารสมอง” ที่เกิดจากพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา
มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาแล้ว สมควรที่จะให้ผู้มีอายุน้อยกว่าเข้ามาทำหน้าที่ ในขณะที่ผู้มีอายุ 60 ปี ก็ออกมาเป็นกองหนุนมาช่วยปกป้องคุ้มครองเป็น “Brain Bank” หรือ “ธนาคารสมอง” ให้แก่ชาติบ้านเมือง
ทรงชี้แนะด้วยว่าประเทศไทย (ในยุคนั้น) มีผู้เกษียณอายุที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก บุคคลเล่านี้เปรียบเสมือนธนาคารสมองที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ...ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำผู้เกษียณอายุเหล่านี้มาช่วยงานส่วนรวมของประเทศได้บ้าง
...
จากพระราชดำรัสดังกล่าว คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยทะเบียนกลาง “ธนาคารสมอง” ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งให้เป็นตัวกลางประสานงานเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายของบุคคลระดับสมองดังกล่าว ทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่มที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ
ซึ่งสภาพัฒน์ก็ดำเนินทันที มีการประสานไปยังกระทรวงต่างๆ ให้จัดตั้งชมรม “ธนาคารสมอง” สำหรับผู้เกษียณอายุที่ประสงค์จะช่วยชาติบ้านเมืองโดยไม่หวังผลตอบแทนขึ้น โดยจัดให้มีโครงข่ายตั้งแต่ระดับส่วนกลางไปจนถึงระดับภูมิภาค พร้อมกับเรียกขานผู้ที่ขันอาสามาช่วยงานพัฒนาต่างๆว่า “วุฒิอาสาธนาคารสมอง” มาตั้งแต่บัดนั้น
จากการประมวลผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในรอบ 24 ปี นับแต่มีพระราชดำรัส เมื่อ 11 สิงหาคม 2543 สามารถสรุปได้ว่า โครงการธนาคารสมอง ได้ดำเนินการครอบคลุมทุกประเด็นการพัฒนา ทั้งด้านส่งเสริมอาชีพ รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการส่งเสริมศักยภาพ สุขภาพอนามัยและสุขภาวะที่ดี ตลอดจนการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ในทุกภาคของประเทศ
แม้ ณ นาทีนี้ก็ยังมี “วุฒิอาสา” ธนาคารสมองที่ยังกระฉับกระเฉงและทำงานอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 2,542 ราย เป็นชาย 1,497 ราย และหญิง 1,045 ราย
จากการตรวจสอบไปที่ สภาพัฒน์ ล่าสุดพบว่า โครงการ “ธนาคารสมอง” ยังคงเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงานแห่งนี้ และยังมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชดำรัสอันทรงคุณค่าด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่านต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียง 1 ตัวอย่างในจำนวนหลายร้อยหลายพันตัวอย่าง อันเกิดจากพระราชดำรัสและพระราชดำริของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “แม่แห่งแผ่นดิน” ของปวงชนชาวไทย ที่จะจารึกในหัวใจของปวงชนชาวไทยตลอดไป.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม