เมื่อวันที่ 7 ส.ค. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 และมูลนิธิกำแพงพักใจ ได้แถลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น โดยนำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-25 ปี ที่มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน หรือเรียน/ทำงานในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,000 คน โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบัน การเรียนอาจจะมีความเครียด จนทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่ง ศธ.มีความตระหนัก จึงได้ดำเนินโครงการและกิจกรรม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ สำหรับโครงการที่พักใจให้เยาวชน เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและเพิ่มมิติการดูแลและทำงานด้านสุขภาพจิต ทำให้ครูมีสื่อและช่องทางแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์

ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้บริการ Mental health Check In ตรวจเช็กสุขภาพใจของกรมสุขภาพจิต การประเมินและคัดกรองความเสี่ยงสุขภาพจิต วันที่ 1-20 ม.ค.2567 พบผู้ใช้บริการที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,200 คน มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 58.20 มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 61 และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 43.65 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก กรมสุขภาพจิตส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ให้แก่จิตอาสาที่ผ่านการอบรมให้เป็น “ผู้ดูแลใจ” ภายใต้โครงการที่พักใจให้เยาวชน เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต รองรับการดูแลช่วยเหลือสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเยาวชน ในการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกรมสุขภาพจิตจะเป็นหน่วยงานในการรับ ส่งต่อ ติดตาม ดูแล ฟื้นฟู อย่างต่อเนื่อง

...

พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า ปี 2567 มูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนการทำงานจาก สปสช.เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงโอกาสในการดูแลสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น โดยเยาวชนในเขตกรุงเทพฯสามารถเข้าร่วมโครงการที่พักใจให้เยาวชน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “อูก้า” (ooca) และเลือกสิทธิ์ “กำแพงพักใจ” เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่