“ความอยู่ดีมีสุข” หมายถึง การมีสุขภาพอนามัยที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้ มีงานทำที่ทั่วถึง มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพมีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและอยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (www.nesdc.go.th) รายงานดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยประจำปี 2565 พุ่งเป้าไปที่...ภาพรวมขององค์ประกอบย่อยสุขภาพทางสังคมที่ดีในปี 2565 อยู่ในระดับดีที่คะแนน 80.96 ลดลงจากปี 2564 ที่คะแนน 82.67
เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วน "ผู้สูงอายุ" ที่อยู่คนเดียว...การปรับตัวลดลงเล็กน้อยของสัดส่วนการมีบ้านเป็นของตนเองและสัดส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินภายใน 8 นาที
ในปี 2565 “ประเทศไทย” กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างสมบูรณ์ มีประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13.70 ล้านคน หรือร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งประเทศ
ประชากรผู้สูงอายุเพศชายคิดเป็นร้อยละ 44.7 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 55.3 ของประชากรทั้งหมด
...
ส่วนผลการสำรวจผู้สูงอายุเกี่ยวกับลักษณะการอยู่อาศัย ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะพักอาศัยร่วมกับครอบครัวและคู่สมรสคิดเป็นร้อยละ 87 ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด แต่กลับพบว่าผู้สูงอายุบางส่วนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้สูงอายุที่ “ไร้ญาติขาดมิตร” หรือ...อาศัยอยู่ลำพังมากขึ้น
น่าสนใจว่า...ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงในด้านการเงินและการดูแลสุขภาพของตนเองสูง ซึ่งในปี 2565 ร้อยละของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวต่อผู้สูงอายุทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 13.14
สูงกว่าในปี 2564 ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวต่อผู้สูงอายุทั้งหมดร้อยละ 12
ประเด็นสำคัญมีว่า...สาเหตุสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่ตามลำพังเป็นผลมาจากสภาพ “เศรษฐกิจ” และ “สังคม” ที่เปลี่ยนแปลง เช่น ลูกหลานบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่เป็นแหล่งงานพร้อมกับครอบครัวของตนและให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ภูมิลำเนาเพียงลำพัง
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่มีความเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น นอกจากนี้การมีสถานะเป็นหม้าย หย่าร้าง หรือเป็นโสด รวมไปถึงการที่ลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ย้ำว่า...สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
แน่นอนว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียวเหล่านี้...เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านการดูแลช่วยเหลือตนเอง การหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองในวัยเกษียณ ตลอดจนการจัดหาสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่เพียงพอและเหมาะสมให้กับคนกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว
นับรวมไปถึงการบริหารจัดการบุคลากรและงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...ถึงตรงนี้ “ที่อยู่อาศัย” ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทย
ที่อยู่อาศัย...เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต นอกจากนี้นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนจำนวนมากมีมุมมองต่อการมีบ้านเป็นของตนเองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตมีความมั่นคงและค่านิยมการมีบ้านเป็นของตนเองนั้นถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม...ในปี 2565 พบว่าคนไทยมีบ้านเป็นของตนเองลดลง โดยมีสัดส่วนการมีบ้านเป็นของตนเองต่อประชากรทั้งหมดร้อยละ 73.1 ลดลงจากร้อยละ 76.5 ในปี 2564
สาเหตุสำคัญเนื่องจากระดับ “ราคา” ที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ซึ่งรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า... ในปี 2565 ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวคิดเป็นร้อยละ 152.9 เมื่อเทียบกับปี 2554
ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์และอาคารชุดคิดเป็นร้อยละ 170.2 และ 184.5 เมื่อเทียบกับราคา ณ ปี 2554 ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2564 ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวคิดเป็นร้อยละ 146.4 เมื่อเทียบกับราคา ณ ปี 2554 ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์และอาคารชุดคิดเป็นร้อยละ 163.8และ180.4
...
ทั้งนี้...ระดับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากนักลงทุนและกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการพำนักในประเทศไทย
ทว่า...ระดับ “รายได้” ของกลุ่มคน “วัยทำงาน” ของคนไทยยังคงชะลอตัว
นอกจากนี้กลุ่มคนเหล่านี้ยังประสบภาวะ “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้น
สาเหตุสำคัญมาจากการขาดวินัยทางการเงิน ทำให้การตัดสินใจซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยลดลง โดยกลุ่มคนวัยทำงานบางส่วนเห็นว่าการซื้อบ้านเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น จึงนิยมเช่าที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งที่ทำงานหรืออยู่กับครอบครัวแทนการซื้อบ้านเป็นของตนเอง
แม้ว่า “ภาครัฐ” ได้ดำเนินมาตรการ...โครงการด้านการพัฒนาพื้นที่การก่อสร้าง จัดหาบ้านและอยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย...กลุ่มคนรากหญ้า หรือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการมีบ้านหลังแรกมาอย่างต่อเนื่องและมีประชาชนเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
...
แต่ก็...ยังคงไม่เพียงต่อความต้องการของประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความเหลื่อมล้ำ”...ด้านรายได้ ทำให้ไทยเป็นสังคมที่ “รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขน้อย ต่อเนื่องเชื่อมโยงกลายเป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในมิติต่างๆ จนเป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจและศักดิ์ศรี
นโยบายประชานิยมต่างๆ...แจกเงินบรรเทาความเดือดร้อนเล็กๆ น้อยๆอาจไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนฉุกเฉินได้แบบด่วนจี๋ทันทีทันใด ราว 5 ปีที่แล้ว...ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลหนึ่งย้ำกรณีปัญหายากจนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความสลับซับซ้อน มีความยากในการดำเนินการ...ไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบาย
“ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแก้ไขปัญหา ในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงวิถีชีวิต วิธีคิด...ซึ่งต้องแก้ไขกันเป็นรายครัวเรือน...ต้องทุ่มเททรัพยากร ความเสียสละ ความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน”
ที่สำคัญ...“ครัวเรือนยากจน” ต้องตั้งใจ รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปฏิบัติการดำรงชีวิตใหม่ ชุมชนที่อยู่ต้องมีความเอื้ออารี...โดยมีหน่วยงาน (พี่เลี้ยง) เข้าไปแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
...
ถ้ายัง...ปรับเปลี่ยนปัจจัยความสุขภายนอกไม่ได้ก็เริ่มง่ายๆจากภายใน (ตัวเราเอง) อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม แนะนำว่า...เคล็ดลับสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจคือการหยุดคร่ำครวญถึงอดีต หยุดกังวลถึงอนาคต และหยุดคาดเดาปัญหาล่วงหน้า
แล้วใช้ชีวิตใน “ปัจจุบัน” อย่างมีสติและจริงจัง...ไม่มีสิ่งไหนที่จะมีคุณค่ามากกว่า “วันนี้”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม