บทที่ 44 สัญญะ “ช้างชูงวง” รหัสวัฒนธรรมไทที่ไม่ธรรมดา ในมหากาพย์ชนชาติไท “เต้าตามไต เต้าตามไท” เล่ม 3 (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ชายชื้น คำแดงยอดไตย สำนักพิมพ์ทางอีศาน) ตอนหนึ่ง...
ราชวงศ์ซาง เป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยแห่งประวัติศาสตร์ มีเอกสารในความหมายรูปการณ์ต่างๆ เช่น อักขระโบราณคล้ายอักษรภาพบนกระดองเต่า ที่เรียก จารึกกระดองเต่า ซึ่งใช้ในการทำนายทายทักด้วย
ในระยะเริ่มต้นยุคสมัย “ราชวงศ์ซาง” นี้ ช้างเข้ามามีบทบาทแจ่มชัดในสังคมที่มีลักษณะรัฐ แรกเริ่มก่อตัว
หลักฐานที่ชัดเจน เครื่องสำริดศิลปะวัตถุบรอนซ์สัญลักษณ์รูปสัตว์ “ช้าง” ในท่า “ช้างชูงวง”
สะท้อนว่าบริเวณป่าเขากว้างใหญ่แดนจีนตอนกลางตอนใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ต่อถึงอินเดียและเทือกเขาหิมาลัย คงมีช้างป่า เดินขบวนผ่านไปมาคึกคัก
การล่าช้างเอางาเกิดขึ้นแล้ว ตามหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบที่สุสานแห่งเมือง “ซานซิงตุ่ย” เมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน สันนิษฐานสมัยโบราณคืออาณาจักร “สู่” หรือ “ชู” เก่าแก่ราว 3,000-4,500 ปี
ถือกันว่าเป็นหนึ่งในการขุดพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกวันนี้
อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญ เหยือกเหล้าทรงเพรียว ทำจากงาช้าง ประดับหินเทอร์ควอยส์สีฟ้าอมเขียวสลักลายงาม จารึกชื่อเจ้าของสุสานเจ้านางฟู่เฮ่า มเหสีจักรพรรดิอู่ติ้ง ที่เมืองอันยาง มณฑลเหอหนาน
ชุดความรู้นี้ อาจารย์ชลธิราเชื่อมโยงถึงหัวข้อสำคัญ “อ้ายลาว” เมืองขี่ช้าง
อาจารย์ทองแถม นาถจำนง ตั้งข้อสังเกตเรื่องอาณาจักรอ้ายลาวไว้น่าสนใจมาก มีนักวิชาการจีนส่วนหนึ่ง เสนอว่า...คำว่า “อายหลาว” มาจากคำไต/ไท “อ้ายหลวง” ในช่วงห้าศตวรรษก่อนคริสตกาล บรรพชน ไต/ไท แถบตอนกลางแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน
...
มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “ขี่ช้าง”
จดหมายเหตุจีนเรียกว่า สิงเซี่ยงกั๋ว-เมืองขี่ช้าง เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของสหพันธ์นครรัฐ อยู่แถบอำเภอเป่าซานปัจจุบัน (ยุคสามก๊ก เรียกหย่งชาง หรือเวงเชี้ยง)
ประมุข เมืองช้างเรียกกันว่า “เจ้าหลวง” ประมุขแต่ละเมืองเรียกว่า “อ้ายหลวง” ซึ่งจีนเขียนเป็น “อายหลาว”
ต่อมาจีนฮั่นรุกคืบมาถึง (แถบป่าซาน) พวกไต/ชาน ย้ายศูนย์อำนาจไปตะวันตก เรียกว่า “ส้านกั๋ว”
จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวถึง “ส้านกั๋ว” ไว้นิดหน่อย นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า “ส้านกั๋ว” คือบรรพชนของพวกชานไท/ใหญ่ แต่มีบางส่วนเชื่อว่า “ส้านกั๋ว” คือบรรพชนของพวกชาน ไท/ใหญ่
และยิ่งกว่านั้น “ส้านกั๋ว” สืบต่อจากอายหลาวก๊ก (อ้ายหลวง)
อาจารย์ทองแถมย้ำ “ความเห็นส่วนตัวผม เยวียซาง (คำเก่าที่สุด) ส้านกั๋ว (ในช่วงกลางของราชวงศ์ฮั่น) เหวินตาน คำว่าตานนี้ ออกเสียงว่า ส้าน ก็ได้
ในราชวงศ์ถัง เป็นชื่อที่คนต่างเผ่าเรียกบรรพชนไท/ลาว คือคำว่า ชาน ซาม เซม เซียม เสียม สยาม”
อาจารย์ทองแถม นาถจำนง จบข้อเขียนนี้ เหมือนทิ้งระเบิดลูกใหญ่กลางใจผม
เป็นไปได้ เมืองในยุคตำนานของจีน อ้ายลาว ส้านกั๋ว ไม่ใช่อื่นไกล ล้วนเป็นพี่น้องจากโคตรด้ำต้นตอเดียวกัน มีรากร่วมสายวัฒนธรรม คนขี้ช้างมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
เพิ่งได้ข่าวอาจารย์ทองแถมตาย เผาที่วัดภคินาถ ฝั่งธน 7 ส.ค.นี้ ผมมีงานนัดล่วงหน้า กำลังคิดว่าจะทำไง? วิญญาณอาจารย์ทองแถมนั่นเอง ช่วยให้ได้เขียนเรื่องนี้ จึงขอถือเป็นดอกไม้จันทน์คารวะอาจารย์ในวาระสุดท้าย
สำหรับผม ชื่อทองแถม นาถจำนง ยังเป็นอมตะ...งานค้นคว้าสาระ จุดประเด็นเร้นลึก ยังมีอยู่ให้คนรุ่นหลังช่วยกันแตกหน่อต่อยอดได้ ไม่มีวันจบสิ้น.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม