เช้าวันนี้ (5 ส.ค.67) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) : Gistda เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ขณะนี้ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2567 และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายไปทั่วประเทศ
กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝน และปริมาณน้ำท่าจากสถานีโทรมาตร มาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำท่ารายชั่วโมง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 67 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการหรือแหล่งน้ำเดิม รวมทั้งพัฒนาระบบกระจายน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาและน้ำเพื่อการเกษตร ลดภัยทางน้ำโดยการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับน้ำหลาก เน้นการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการเฝ้าติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด