ข้อสงสัยภาพคล้าย “ปลานิล-ปลาหมอเทศ” มีสีดำที่คาง มีข้อยืนยันจากนักวิชาการว่าไม่ใช่การ “กลายพันธุ์” แต่เป็นแค่ “ปลาหมอคางดำ” ที่อ้วน

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้สั้นๆว่า....

มันคือ “ปลาหมอคางดำที่อ้วน” แค่นั้นแหละครับ

กรณีมีพาดหัวข่าวกันหลายสำนักข่าวว่าเจอปลานิลคางดำ, ปลานิลกลายพันธุ์มาจากปลาหมอคางดำหรือ..เป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับ

ปลาหมอคางดำ ส่วนตัวมองว่ามันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไร เพราะจากที่ดูในรูปและคลิปข่าวมันคือปลาหมอคางดำนั่นแหละ

แค่..มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจากแอฟริกาที่พบว่า ปลาหมอคางดำ ถ้าเติบโตดี อาหารดี สามารถยาวได้ถึง 8 นิ้ว และสถิติตัวยาวสุด คือ 11 นิ้ว (เป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่น)

“การจำแนกความแตกต่างระหว่างปลาหมอคางดำออกจากปลาหมอเทศ และปลานิล ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอม”

...

ซึ่ง ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เคยโพสต์ข้อมูลไว้ว่า ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron) จะมีลักษณะเด่นคือ ใต้คางมักมีแต้มดำ หางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใดๆ

ส่วน ปลาหมอเทศ หรือ Mozambique tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) จะมีแก้ม ในตัวผู้มักมีแต้มขาว หางมน มีขอบแดงเสมอ ขณะที่ ปลานิล หรือ Nile tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ O.niloticus) จะมีแก้มและตัวสีคล้ายๆกัน หางมน และมีลายเส้นคล้ำขวางเสมอ

ถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้วจะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะลายเส้นคล้ำขวาง..ตามลำตัวและหางแบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้น

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศ (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับ ปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) การที่อยู่ๆ ในเวลาไม่กี่ปีจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น เป็นไปไม่ได้เลย

“ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุลระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้วว่ามีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติ” รศ.ดร.เจษฎา ทิ้งท้าย

“ทำไมเรียก ปลาหมอ (สี) คางดำ...ไม่เรียก ปลานิลคางดำ” มีแฟนเพจท่านหนึ่งที่เป็นคุณครูทางชีววิทยา

ส่งคำถามนี้มาถามอาจารย์เจษฎาว่าถ้าเจ้าปลาหมอคางดำมันดูหน้าตาคล้ายปลานิล ทำไมเราไม่เรียกว่า “ปลานิลคางดำ” กัน แทนที่จะเรียกว่าปลาหมอคางดำ?

คำตอบแบบสั้นๆก็คือ ชื่อ “ปลานิล” เป็นชื่อพระราชทานเฉพาะของปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ “ปลาหมอสี” ซึ่งที่มาของชื่อนั้นมาจากแม่น้ำไนล์..

ทำให้ปลาชนิดอื่นๆในวงศ์นี้จะเรียกคำขึ้นต้นว่าเป็นปลาหมอ (สี)

ส่วนด้านล่างต่อไปนี้ จะอธิบายแบบยาวๆตามข้อมูลและความเข้าใจส่วนตัว นับแต่ดั้งแต่เดิมในไทยเรามีแต่ “ปลาหมอไทย” (ชื่อสามัญ climbing perch ชื่อวิทยาศาสตร์ Anabas testudineus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาหมอ (family Anabantidae) พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป กระจายพันธุ์ในทุกภาคและอีกหลายประเทศของเอเชีย

ชื่อ “ปลาหมอ” มาจากความเชื่อที่ว่าถ้าได้ปล่อยปลาชนิดนี้ จะทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

...

ในปี พ.ศ.2492 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) บุญ อินทรัมพรรย์ แห่งคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้นำเอา “ปลาหมอเทศ” อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae)..ห่างจากวงศ์ปลาหมอ (Ana bantidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่มีรูปร่างคล้ายกับปลาหมอไทยเข้ามาจากปีนัง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง...เรียกชื่อปลานี้ว่า “ปลาหมอเทศ” ทั้งที่อยู่คนละวงศ์ family กันเลย

ในปี พ.ศ.2495 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศ ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเข้ามาน้อมเกล้าฯถวายที่สระน้ำในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และมีพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศไปเลี้ยงและขยายพันธุ์

จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานลูกปลาหมอเทศที่ทรงเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไว้ไปปล่อยขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีปลาเป็นอาหารโปรตีนบริโภค เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชนในชนบท

แต่การส่งเสริมการเลี้ยงปลาหมอเทศไปสู่ประชาชน ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายนัก เนื่องจากเป็นปลาชนิดใหม่ที่นำเข้ามาในประเทศไทย คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติ

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น (ขณะทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลา Nile tilapia..ก็คือ “ปลานิล” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน 25 คู่

ทรงให้นำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลาในบริเวณสวนจิตรลดา และปลาดังกล่าว ได้เจริญเติบโตขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว..ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” โดยทับศัพท์

...

จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา “Nil” จาก “nilotica”

และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า 10,000 ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่างๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง พร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภคต่อไป

...

นอกจากนี้ยังมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้นให้มีตัวโตมีเนื้อมาก ส่วนปลานิลที่เพาะเลี้ยงไว้ในสวนจิตรลดานั้นให้มีชื่อเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” ซึ่งเป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิม

ส่วน “ปลานิลแดง” นั้น เรียกขึ้นต้นว่าปลานิลได้ เนื่องจากเป็นลูกผสมระหว่าง “ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus กับ ปลานิล Oreochromis niloticus” เกิดขึ้นโดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น โดย ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ

เมื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ได้รับการพระราชทานนามว่า “ปลานิลแดง” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522

ย้อนกลับมาที่ “ปลาหมอคางดำ” การนำเข้าในปี พ.ศ.2549 ช่วงเวลานั้น ยังไม่มีการบัญญัติชื่อ “ปลาหมอ (สี) คางดำ” เพิ่งมาปรากฏชื่อนี้ชัดเจน ในประกาศห้ามนำเข้า..เพาะพันธุ์..ส่งออกของกรมประมง ในปี พ.ศ.2561 พร้อมกับปลาหมอสีต้องห้ามอื่นๆ เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน ฯลฯ

มหากาพย์ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ต้องแก้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม