เปิดผลสำรวจ "นอร์ทกรุงเทพโพล" ชี้ชัด "ประชาชน" เทเสียงให้ย้าย "ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)" ออกจากพื้นที่เดิม เชื่อนำที่ดินกว่า 2.3 พันไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้หลายด้าน
ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากกรณีการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น ขณะนี้กระแสสังคมได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก จากก่อนหน้านี้ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม, การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)
ขณะเดียวกัน มอบหมายให้หาแนวทางในการพัฒนาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ของ กทท. ที่มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น เพื่อต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ลดปัญหาความแออัดของชุมชน, แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด, แก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการย้ายคลัง และโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
ผศ.ดร.สานิต กล่าวต่อว่า นอร์ทกรุงเทพโพลได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-30 กรกฎาคม 2567 จากประชาชนจำนวน 2,500 คน ในเรื่องการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) พบว่า ประชาชนกว่า 70.3% ทราบถึงโครงการการย้ายท่าเรือคลองเตย และมีเพียง 29.7% ที่ไม่ทราบเรื่อง โดยการสำรวจ ระบุว่า มีประชาชนส่วนใหญ่ 70.7% เห็นด้วยต่อการย้ายท่าเรือกรุงเทพ ขณะที่ ไม่เห็นด้วย 16.2% และไม่แสดงความคิดเห็น 13.1%
ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อถามคิดเห็นถึงการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จะทำให้เกิดประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เดิมอย่างไร ผลสำรวจ พบว่า ประชาชน 40.2% ระบุว่า จะสามารถผสมผสานการใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ขณะที่ใช้ในเรื่องอื่นๆ 18.4%, ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส 16.7%, ใช้เป็นสวนสาธารณะ 11.3%, ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 10.2% และใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3.2%
เมื่อถามถึงช่องทางในการทราบโครงการการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) พบว่า ส่วนใหญ่ 34.9% รับทราบจากช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการรับทราบแผนการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จาก อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ 24% ขณะที่ 14.2% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากแผ่นพับ โปสเตอร์ เอกสารประชาสัมพันธ์ ส่วน 12.4% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี นอกจากนี้ 9.3% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร และ 5.2% รับทราบข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่จากทางราชการ