ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 ได้พิจารณากรณีที่ไม่มีผู้ยื่นขอรับอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก หลังจากที่สำนักงาน กสทช.ได้กำหนดจัดการประมูล และเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ารับซองรายละเอียด ซึ่งปรากฏว่ามีเอกชนรับซองไปทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด แต่สุดท้ายเมื่อครบกำหนดยื่นเอกสารเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2567 ไม่มีเอกชนรายใดมายื่นซองประมูลเลยนั้น
ที่ประชุมบอร์ดมีมติเห็นชอบให้ยึดหลักการรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมเอาไว้ โดยเป็นสำคัญ โดยให้ดำเนินการตามที่คณะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียมเสนอ พร้อมกำหนดระยะเวลาดำเนินการ โดยให้เปลี่ยนจากวิธีประมูลเป็นจัดสรรสิทธิโดยตรงแบบเปิดกว้าง (open direct award) พิจารณาคัดเลือกผู้ชนะจากการเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ (beauty contest) จากผู้สนใจ โดยให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.2567
รวมทั้งสำนักงาน กสทช.ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้วงโคจรดาวเทียมดังกล่าวภายใน 5 วันทำการ ตลอดจนให้ทำหนังสือถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อขอขยายระยะเวลาการใช้งานวงโคจร 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก ออกไปอีก 12 เดือน เนื่องจากอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาต เนื่องจากตำแหน่งวงโคจร 50.5-51 องศาตะวันออก มีระยะเวลาที่ต้องใช้งานดาวเทียมภายในวันที่ 27 พ.ย.2567 หากไม่มีการใช้งาน จะถูก ITU ยึดคืน ส่วน ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก มีกำหนดใช้งานในปี 2568.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...