ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งมี น.ส.ขนิษฐา โชติกวณิชย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ทำหน้าที่แทนหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม มีวาระการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ. อุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2567 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และนายกสมาคมอิโคโมสไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เป็นมรดกโลก กล่าวว่า ช่วงวันที่ 26-27 ก.ค. นี้ จะมีการพิจารณาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก ตนมีความมั่นใจว่าจะได้รับการรับรองอย่างแน่นอน ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 5 ของไทย ทั้งนี้ ผู้แทนอิโคโมสได้ลงพื้นที่ทำการประเมินอย่างต่อเนื่องโดยพิจารณาเห็นถึงความสำคัญในระดับสากล มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และความเป็นของแท้ดั้งเดิม รวมถึงมีการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างครบถ้วน

นายบวรเวทกล่าวอีกว่า การนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกเป็นไป ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ในข้อที่ 3 คือ เป็นประจักษ์พยานของรูปแบบที่สำคัญในการใช้หลักหินสีมาปักและจัดเรียง แสดงให้เห็นเส้นทางวิวัฒนาการของวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์และความเป็นของแท้ดั้งเดิมที่สุด รวมทั้งเป็นการผสมผสานความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยการใช้หลักหินสีมาปักล้อมรอบเพิงหิน เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามที่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก

“นอกจากนี้ยังเข้าเกณฑ์ข้อที่ 5 คือ เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ คือ มีการปรับเปลี่ยนและดัดแปลงเพิงหินในลักษณะต่างๆกัน ด้วยการสกัดหินให้ใช้เป็นที่พักหรือพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีการบริหารจัดการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมศิลปากรร่วมกับกรมป่าไม้ ตลอดจนมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนด้วย” นายบวรเวทกล่าว.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่