ทอท.แจงระบบเช็กอินสนามบินกลับมาใช้งานได้ปกติแล้ว ไม่พบผู้โดยสารตกค้างหลังเกิดวิกฤติวินโดวส์ล่ม แต่ไม่ประมาทสั่งเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ในระยะเวลา 3 วันจากนี้ กรณีเกิดเหตุขัดข้องซ้ำ ด้าน รมว.ดีอีแจง CrowdStrike ระบุการอัปเดตเนื้อหา (content update) ผิดพลาด ไม่ได้เกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ ไม่พบกระทบเครือข่ายมือถือ-อินเตอร์เน็ตไทย ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศโดยเฉพาะอังกฤษยังยกเลิกเที่ยวบินอย่างน้อย 45 เที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลกระทบผู้โดยสารมากถึง 7,000คน แฉก่อนหน้านี้ยังมีผู้โดยสารตกค้างในอังกฤษราวครึ่งแสน เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบินถึง 350 เที่ยวบิน

จากเหตุระบบปฏิบัติการ “วินโดวส์” ล่มหน้าจอสีฟ้าครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เหตุจากผู้ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อใช้งานในระดับองค์กรอัปเดตระบบซอฟต์แวร์ “ฟอลคอนเซ็นเซอร์” จนเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ ทำธุรกิจการบิน การเงิน การธนาคาร สถานีโทรทัศน์และอื่นๆได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แม้กระทั่งประเทศไทยโดยเฉพาะสนามบิน ผู้โดยสารต้องใช้เวลาเช็กอินนานกว่าปกติรวมทั้งระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติไม่สามารถทำงานได้ บ.ท่าอากาศยานไทย จำกัด ต้องประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารเดินทางล่วงหน้า 4 ชั่วโมงทุกสนามบิน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ล่าสุดวิกฤติเริ่มคลี่คลายเมื่อวันที่ 20 ก.ค.นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า กรณีระบบ Departure Control System : DCS ของสายการบินบางกลุ่มมีปัญหาเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 19 ก.ค.67 ทำให้ทุกสายการบินทั่วโลกที่ใช้ระบบดังกล่าวในทุกท่าอากาศยานไม่สามารถเช็กอินผู้โดยสารและสำรองที่นั่งได้นั้น เมื่อเวลา 02.00 น. (วันที่ 20 ก.ค.67) ระบบได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อเวลา 09.00 น. ระบบเกิดขัดข้องอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 11.00 น. ปัจจุบันพบว่าแถวคอยของผู้โดยสารและระยะเวลาการเช็กอินกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

...

นายกีรติกล่าวต่อว่า เหตุดังกล่าวมีสายการบินที่ได้รับผลกระทบราว 200 เที่ยวบิน แต่ทุกเที่ยวบินสามารถทำการบินได้ มีเพียงบางเที่ยวบินที่ล่าช้า 1-3 ชั่วโมง และยกเลิกเที่ยวบินเพียง 1 เที่ยวบิน คือเส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา วันที่ 20 ก.ค. เวลา 10.00 น. สอดคล้องกับที่สายการบินแจ้งว่าทุกเที่ยวบินไม่มีผู้โดยสารตกค้าง มีผู้โดยสารบางส่วนเเจ้งขอเปลี่ยนเที่ยวบิน และขอรับค่าโดยสารคืนสามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทอท. ยังมีมาตรการรองรับเหตุดังกล่าวโดยการรักษาสิทธิ์ผู้โดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินหรือขอรับค่าโดยสารคืน รวมถึงสั่งให้เพิ่มกำลังพลเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ในระยะเวลา 3 วันนับจากนี้กรณีที่เกิดเหตุระบบขัดข้องซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ช่วงวันหยุดติดต่อกันนี้ ขอความร่วมมือเผื่อเวลาเดินทางล่วงหน้า 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน

“ภาวะวิกฤติของท่าอากาศยานทั่วโลกครั้งนี้ ทอท.ได้รับความร่วมแรงร่วมใจเป็นอย่างดีจากสายการบิน และผู้ประกอบการในท่าอากาศยานที่ส่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นเจ้าหน้าที่บริการผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำผู้โดยสาร รวมถึง ทอท.จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารที่รอคอยเช็กอิน” นายกีรติกล่าว

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ระบบการให้บริการของ บริษัท CrowdStrike (คราวด์สไตรก์) เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา เกิดข้อผิดพลาดส่งผลให้ระบบปฏิบัติการ Windows ขัดข้องนั้น ดีอีตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่พบว่ากรณีดังกล่าวกระทบต่อเครือข่ายโทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่-อินเตอร์เน็ต รวมทั้งระบบสื่อสารและการเดินอากาศของวิทยุการบิน ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่ามีผลกระทบกับบางระบบงานในไทยบ้างอยู่ระหว่างประมวลข้อมูล โดย สกมช.ได้ออกคำแนะนำสำหรับหน่วยงานรัฐและเอกชนแก้ไขในเบื้องต้นไว้แล้ว

รมว.ดีอีกล่าวต่อว่า แนวทางตามคำแนะนำของ สกมช.ได้มาจาก CrowdStrike จะไม่ทำให้ความปลอดภัยลดลงและระบบจะกลับมาทำงานตามปกติรวมทั้งยังคงได้รับการป้องกัน CrowdStrike ระบุสาเหตุการอัปเดตที่ผิดพลาดว่าเป็นข้อบกพร่องในการอัปเดตเนื้อหา (content update) ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าเกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ หากระบบได้รับการบูตและกลับมาออนไลน์อีกครั้ง ผู้ใช้ไม่มีความจำเป็นต้องถอดถอน CrowdStrike กระทรวงดีอีจะร่วมกับ สกมช.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมหารือแนวทางและมาตรการรับมือหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงความคืบหน้าเหตุระบบปฏิบัติการวินโดวส์ล่มครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดความขัดข้องในการอัปเดตซอฟต์แวร์ “ฟอลคอน เซ็นเซอร์” ของบริษัทคราวด์สไตรก์ ผู้ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก ทั้งสายการบิน ธนาคาร สถานพยาบาล สถานีโทรทัศน์ หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐบาลในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย รวมถึงไทย ก่อนได้รับการแก้ไขและกลับมาใช้งานได้ตามปกติในบางส่วน โดยองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเครื่องบินขึ้นบินแก่สายการบินหลักในสหรัฐฯ เช่น สายการบินเดลตา แอร์ไลน์ และสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ทำให้กลับมาให้บริการได้ตามปกติ กระนั้นการยกเลิกและความล่าช้าของเที่ยวบินยังคงมีอยู่ ซึ่งยูไนเต็ด แอร์ไลน์เผยว่า การล่มของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ส่งผลต่อการคำนวณ น้ำหนักเครื่องบิน การเช็กอิน และระบบสื่อสารทางโทรศัพท์ของสายการบิน

ขณะที่สถานการณ์ในอังกฤษ ยังคงมีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างน้อย 45 เที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากถึง 7,000 คน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ยังมีผู้โดยสารตกค้างในอังกฤษราว 50,000 คน เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบินถึง 350 เที่ยวบิน ส่วนสถานพยาบาลต่างๆได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (เอ็นเอชเอส) ระบุว่า ระบบการให้บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในประเทศได้รับผลกระทบ แพทย์ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้ กระทบการให้บริการสายด่วนที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการของเอ็นเอชเอสผ่านช่องทางปกติ

...

ด้านสมาคมเภสัชกรรมแห่งชาติของอังกฤษเผยว่า พบปัญหาการเข้าถึงใบสั่งยาจากแพทย์ และการจัดส่งยาแก่ผู้ป่วยจากการขัดข้องของระบบไอที คาดว่าระบบจะยังขัดข้องจนถึงสุดสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันและเว็บไซต์สลากกินแบ่งแห่งชาติอังกฤษที่เผชิญปัญหาเดียวกันผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าไปซื้อหรือตรวจผลรางวัลได้

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่