“สภาทนาย” นำตัวแทนผู้เอาประกันบุกกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ถามความคืบหน้าเงินเยียวยา ประกันโควิด-19 หลัง “สินมั่นคงประกันภัย” ล้ม เหลือทรัพย์สินแค่ 3 พันล้านบาท แต่มีเจ้าหนี้ 4-5 แสนราย มูลหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาทเศษ “ชนะพล มหาวงษ์” ผจก.กปว. สารภาพกองทุนบ่จี๊เพราะก่อนหน้ามีบริษัทประกันล้ม 4 แห่ง มีผู้เอาประกันประมาณ 5 แสนราย มูลหนี้ค้างประมาณ 4 หมื่น 5 พันล้านบาท อยู่แล้ว ถ้ารวมมูลหนี้ของสินมั่นคงด้วยจะเป็นยอด 9 หมื่นกว่าล้าน ผู้เอาประกันต้องรอ 80 ปีถึงจะได้เงินสินไหม ฝากสภาทนายฯเป็นตัวแทนเจรจารัฐบาลช่วยแก้ปัญหา ด้านตัวแทนผู้เสียหายประกาศถ้าไม่ได้เงินเยียวยาต้องใช้สิทธิทางศาล
ที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ก.ค. นายวิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวิเชียร รุจิธำรงกุล ผู้ประสานงานผู้เสียหายตามสัญญาประกันภัย พร้อมตัวแทนผู้เอาประกันที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าพบนายชนะพล มหาวงษ์ ผจก.กองทุนวินาศภัย เพื่อติดตามการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เอา ประกันภัยและเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยโควิด-19 หลังจากผู้ได้รับความเสียหายเข้าร้องเรียนสภาทนายความ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเจ้าหนี้ในส่วนบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้รวม 4 บริษัท ประมาณ 5 แสนราย มูลหนี้ค้างประมาณ 4 หมื่น 5 พันล้านบาท
อีกกลุ่มเป็นเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขณะเข้าร้องเรียนยังไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถึงวันนี้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยคำสั่งกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ชำระบัญชีในวันที่ 9 ก.ค.2567 มีผลให้ กปว.ต้องเข้ามาเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยฯ เช่นเดียวกับบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้
...
ในส่วนบริษัทสินมั่นคงประกันภัยฯ มีเจ้าหนี้อยู่ประมาณ 5 แสนราย ยอดหนี้ประมาณ 4-7 หมื่นล้านบาท รวมจำนวนเจ้าหนี้ที่ กปว.จะต้องชำระทั้ง 2 กลุ่มประมาณ 1 ล้านรายเศษ ยอดหนี้ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เฉพาะในส่วนบริษัทสินมั่นคงประกันภัยฯ จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทรัพย์สินเป็นอาคารที่ดินและรถยนต์ตลอดถึงอุปกรณ์สำนักงานที่สามารถนำมาจำหน่ายเพื่อนำเงินบางส่วนมีประมาณ 3 พันล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้
ทางกองทุนประกันวินาศภัยต้องพยายามหาเงินจากช่องทางต่างๆตามกฎหมายประกันวินาศภัยเปิดช่องให้ทำได้คือ ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐ เคยขอไปแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ นอกจากนี้ยังขอขึ้นเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย ปัจจุบันขึ้นเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยไปเท่าตัวแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ จากช่องทางการกู้ยืมปัจจุบันไม่มีธนาคารใดให้กู้ เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน และมีแนวความคิดของ คปภ.จะขอความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัยร่วมกันให้กู้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทโดยกองทุนออกพันธบัตร
หากทำทุกช่องทางแล้วยังไม่สามารถรวบรวมเงินได้ครบตามยอดหนี้ซึ่งมีจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการประนอมหนี้ร่วมด้วย อนึ่ง ในกรณีการประนอมหนี้ ทางกองทุนประกันวินาศภัยมีความกังวลในข้อกฎหมายว่า กองทุนอาจไม่สามารถขอลดยอดหนี้ได้ตามข้อกฎหมายประกันภัย แต่ในทางกลับกันหากเป็นการเจรจายอมลดยอดให้โดยความยินยอมของเจ้าหนี้ หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ น่าจะสามารถทำได้ ทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องรอนานหลายสิบปี
นายชนะพล มหาวงษ์กล่าวว่า วันนี้สภาทนายมาหารือเบื้องต้นหาทางออกให้ประชาชน ปัญหาของกองทุนประกันวินาศภัยคือ รับเรื่องของบริษัทประกัน 4 แห่ง หนี้ค้างรวม 6-7 แสนล้านบาทยังจ่ายไม่หมดเพราะเงินไม่พอ เรามีกำลังจ่ายปีละ 1,200 ล้านบาทใช้เวลาจ่าย 40 ปี กำลังจะมีสินมั่งคงอีก 1 แห่ง มีเจ้าหนี้ 4-5 แสนราย หนี้ 7 หมื่นล้านบาท รวมของเก่าของใหม่เกือบ 2 ล้านราย ใช้เวลาจ่ายอีก 40 ปี รวม 5 บริษัทจะใช้เวลา 80 ปี ดังนั้นสมมติผู้เอาประกันอายุ 50 ปีจะได้รับเงินตามกรมธรรม์เมื่ออายุ 130 ปี
“ใจจริงเราควรจ่ายให้เสร็จภายใน 2 ปียังมีกรมธรรม์ที่ยังเดินอยู่ (ยังคุ้มครอง) แต่บริษัทล้มละลายถูกถอนใบอนุญาตไปแล้ว เราจะบอกเลิกให้หมดภายในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ปัญหาติดที่เงิน ถ้ามีเงินจะจ่ายให้หมด เราเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่ประเด็นคือเงินไม่มีและติดขัดข้อกฎหมายบางประการกับนโยบายรัฐ ขอให้สภาทนายความเป็นคนกลางไปเจรจากับรัฐบาลและกระทรวงการคลัง เพื่อขอนโยบายและหาทางออกที่เหมาะสมให้กับลูกหนี้ด้วย” นายชนะพลกล่าว
ด้านนายวิเชียรกล่าวว่า จะรับเป็นตัวแทนไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง หาทางแก้ปัญหาให้ลงตัว และเป็นคนกลางเจรจากับผู้เอาประกันอีกครั้งว่า พอใจรับเงินสินไหมรายละเท่าใด
ส่วนตัวแทนผู้เสียหายเผยว่า เราไม่เชื่อมั่นกับระบบประกันภัย แต่มีความหวังกับการที่สภา ทนายความพามาเรียกร้องครั้งนี้ แต่สุดท้ายอาจต้องใช้สิทธิทางศาล ความเดือดร้อนครั้งนี้รัฐบาลต้องลงมาดูแล
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่