นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร สธ.ได้หารือแนวทางความร่วมมือกับ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและคณะ ในประเด็นการเชื่อมต่อข้อมูลและระบบส่งต่อ เพื่อเตรียมการรองรับการขยายโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่ง สธ.มีโครงข่ายทั้งระบบสารสนเทศเพื่อการเบิกจ่าย (FDH) ระบบยืนยันตัวตน ผู้รับและผู้ให้บริการ (Health ID/Provider ID) ระบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ระบบเฝ้าระวังโรคและระบบข้อมูลกลาง สามารถนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อใช้ในการพัฒนางานได้อย่างดี

ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในระบบสุขภาพเช่นกัน และบางส่วนก็ร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เช่น การใช้ AI ในการเอกซเรย์ปอดและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ระบบช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น จึงมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจัดบริการสุขภาพและการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ ระบบฐานข้อมูลรูปภาพทางการแพทย์ การใช้ AI ช่วยวินิจฉัยการเอกซเรย์ปอดทั่วประเทศ การคัดกรองวัณโรค การใช้ AI เพื่อการเบิกจ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเห็นด้วยและได้มอบให้หน่วยงานของศิริราชมาร่วมประชุมกับหน่วยงานของ สธ. เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือในการพัฒนางานแต่ละด้านร่วมกันต่อไป

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับ ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยเป็นความร่วมมือกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมุทรปราการ ในการจัดทำแผนพัฒนาการเรียนการสอนและการรับนักศึกษาแพทย์ เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งมีแผนรองรับการเพิ่มจำนวนนักศึกษาและอาจารย์แพทย์ รับนักศึกษาประมาณปีละ 40 คน

...

ด้านภราดา บัญชา กล่าวว่า การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อผลิตแพทย์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วย ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุของประเทศ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Service Hub) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism).

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่