ภัยออนไลน์ยังเยอะแยะยุบยับ ตั้งแต่เรื่องใหญ่กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไปยันหลอกลวงขายสินค้าราคาหลักร้อยหลักพัน! อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ตัวเงินไม่กี่บาท แต่ถ้ามีผู้เสียหายกลุ่มใหญ่เอาตัวเลขไปคูณดูว่า มันจะเป็นเงินเท่าไหร่?!

ปัญหาใหญ่ของการซื้อของทางออนไลน์คือ สั่งซื้อของแล้วไม่ได้ของ อันนี้ผิดกฎหมายแน่ๆ

แต่มีอีกแบบ หลอกขายสินค้าไม่ตรงปก “สั่งหมูได้หมา สั่งกาได้ไก่” เป็นปัญหามานาน ตำรวจก็อึดอัดเพราะเป็นคดีมโนสาเร่ ส่วนใหญ่ความเสียหายหลักร้อย วันๆเกิดเป็นร้อยเป็นพันคดี!

จนชาวบ้านเริ่มระวังตัว เลือกซื้อแบบเก็บเงินปลายทาง

แต่ก็ยังไม่รอด เพราะมิจฉาชีพพวกนี้ส่งของมาจริงแต่ไม่ตรงปก กลายเป็นเหมือนโยนภาระให้คนซื้อไปทะเลาะกับไรเดอร์ส่งของเอาเอง หลายคนงงว่า ตกลงไม่รับของที่ไม่ตรงปกได้หรือเปล่า?

ล่าสุด คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เห็นชอบร่างประกาศเกี่ยวกับการที่ผู้บริโภคสามารถขอเปิดดูสินค้าได้ก่อนชำระค่าสินค้า สำหรับการซื้อสินค้าจ่ายเงินปลายทาง

ประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ลงนามเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทาง เป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน 2567 แล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.ค.

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ก.ค.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค.เป็นต้นไป

เป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้นักช็อปออนไลน์ ใช้ “มาตรการส่งดี (Dee–Delivery)” ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทาง ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ สกุล หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง

รวมถึงให้สิทธิ์ผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า มีสิทธิ์ได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อน 5 วัน ก่อนส่งเงินให้ผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุขอคืนสินค้าและขอเงินคืน...

...

คราวนี้แหละ พวกขายของไม่ตรงปก ต้องรับความเดือดร้อนไปบ้าง?

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม