สภาการสื่อมวลชนฯ จัดงานครบรอบ 27 ปี จัดเวทีปาฐกถาพิเศษ ทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล” โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า ที่มาพูดวันนี้ไม่ได้มาทำนายการเมืองไทย แต่คำถามใหญ่ต่อคนไทย ถ้าพูดถึงการเมืองไทย ย้อนไปปี 2540 ที่นับเป็นการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย จะพบว่าปี 2540 การตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับกลไกระบบการเมืองใหม่ มีเครื่องมือใหม่ ดึงสิ่งที่ดีทั่วโลกไว้ในการเมืองไทย มีองค์กรอิสระ แต่คำถามคือตั้งแต่ปี 2540 ถึงบัดนี้ เราพอใจการเมืองปัจจุบันหรือยัง มันดีขึ้น หรือแย่ลง หลายคนบอกดีขึ้น อะไรคือดีขึ้น ทุกวันนี้ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ก็คือการไม่ลงสมัคร คำถามคือชุดความคิดชุดนี้ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่
...
ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการมีฝักฝ่าย มีพวก มีขั้ว แต่คำถามสำคัญของการเมืองไทย ถ้าเทียบกับหลายประเทศ ขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ เป็นขั้วเชิงอุดมการณ์และความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทฤษฎีทางการเมืองบางอย่าง ฯลฯ แต่ขั้วการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ มันคือทัศนะต่อตัวคน มันคือทัศนะที่ทำให้รู้สึกดีหรือไม่ดี หลายเรื่องอาจจะไปถึงคำว่าอคติทางการเมือง
ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า คำถามต่อไปคือการเมืองไทยมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ในทัศนะของตน เราอาจรู้สึกว่า ประเทศไทย ผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ใช้เปลือง อายุขัยเฉลี่ย 7-8 ปี แต่ถามว่า ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมมากขึ้น เราอาจบอกว่า รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 2560 เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เติบโตมากขึ้นและเราอาจไม่รู้สึกคิดว่ามี 2-3 เรื่อง
1. สิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น สื่อมวลชนไม่เคยมีสิทธิเสรีภาพแบบนี้ ไม่เคยได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพประชาชนก้าวหน้าไปถึงขนาดสมรสเท่าเทียม นี่คือการพัฒนาทางการเมือง 2. กระจายอำนาจไปจากรัฐกลางไปสู่พื้นที่ดีขึ้น 3. การมีช่องทางหรือกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดีขึ้น กว้างขวางขึ้น
อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพัฒนาทางการเมืองก้าวหน้าขึ้น โดยยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญ มีการให้สิทธิเสรีภาพสื่อมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีการสมรสเท่าเทียม เป็นต้น
ศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า เมืองไทยต้องกลับมาพูดการเมืองที่มีทัศนะทางบวกบ้าง ต้องมองว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติ ขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางเห็นตรงกัน สังคมสมานฉันท์ ไม่ได้หมายความว่าสังคมต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่คนเห็นต่างกันแสดงความเห็นได้ และมีทางออก และไม่ใช้ความรุนแรง จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยมันแก้ไขตัวเองได้ มันฟื้นตัว ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ โดยยังคงหลักการของประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญ
“คิดว่าสังคมยังขาด Core Value (ค่านิยม) ที่เป็นคุณค่าสำคัญของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และเราตีความว่าการเลือกตั้งไม่ดี แล้วประชาธิปไตยจะดีได้อย่างไร แต่ประชาธิปไตยคือวิถีชีวิต ที่ยึดความหลากหลาย เคารพเสรีภาพคน ตรงนี้คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ก็จะบ่นแบบเดิม” ศ.วุฒิสาร กล่าว
ศ.วุฒิสาร ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องเริ่มจากการออกแบบกติกาให้เป็นสากล โดยกติกาที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ และคนสำคัญที่สุดคือกรรมการ ซึ่งต้องตัดสินตามกติกา เมื่อกติกาเป็นธรรม กรรมการคุมกติกาละเอียด แม่นยำขึ้น โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ และการออกแบบกติกาที่เป็นธรรม แฟร์ทุกเรื่อง คีย์เวิร์ดสำคัญ
ขณะที่ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า สังคมเฝ้าติดตามอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้จะไปอย่างไร การเมืองไทยเปราะบาง ในความเห็นของตนก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยวันนี้เริ่มมีความเปราะบางค่อนข้างสูง การวางทิศทาง การวางนโยบาย การกำหนดแผนงานต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติการในส่วนทำให้นโยบายและไปในทิศทางถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก
...
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า โลกได้เคยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่อง ทำให้เกิดความไม่แน่นอน มีความหวั่นไหว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ถือว่ามีความสำคัญเสริมเข้ามา เช่น เทคโนโลยีดิสรัปชัน สร้างความพลิกผันทางธุรกิจอย่างสูง เรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการ มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวโลก ขณะที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ พวกเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่ภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดชะตากรรมแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลกระทบกว้างขวาง ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดขัดแย้ง อีกประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย
“ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเดินไม่ถูกทาง จะทำให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจต่อประเทศนั้นๆ ได้ค่อนข้างรุนแรง ในสภาวะปัจจุบันนี้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทย เราพบและรับรู้ว่า ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศด้วย การลงทุนในประเทศไม่เพียงพออุ้มชูเศรษฐกิจของเรา และขึ้นอยู่กับการส่งออกและการลงทุน เป็นส่วนสร้างรายได้ให้กับประเทศมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิเศรษฐกิจ การส่งออกของไทย และการลงทุนของไทย จะเห็นว่าเริ่มประสบปัญหา โดยจากการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลง ส่งผลทำให้ GDP ของไทยมีการขยายตัวอยู่ในระยะต่ำ ซึ่ง IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.2-2.7% ถือว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในกลุ่มอาเซียน
ดร.ปานปรีย์ ตั้งคำถามว่า ทำไมไทยขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่ำสุดในอาเซียน การใช้จ่ายภาครัฐในเวลานี้ก็มีข้อจำกัด เป็นที่ทราบได้ดีว่า เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 65.05% ทำให้การใช้จ่ายในภาครัฐมีข้อจำกัด หนี้ครัวเรือนในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อภาวการณ์บริโภคในประเทศ หลายฝ่ายก็มีความเป็นกังวลอยู่ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายใดที่จะมีความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
...
ดร.ปานปรีย์ มีข้อเสนอทิศทางเศรษฐกิจไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1. ไทยกําลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 2. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการดําเนินการมาถูกทางแล้ว แต่หลายเรื่องยังขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจน และยังมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย
3. การที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Economy, Green and Clean Economy เราคงไม่สามารถที่จะละทิ้งอุตสาหกรรมเก่าไปหาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมดได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้อง Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่า ให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
4. นโยบายเศรษฐกิจต้องสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ 5. เรียนรู้จากคู่แข่งขัน แล้วสามารถนําออกมาพัฒนาเป็นนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม 6. Skilled Labour คือสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องให้ความสําคัญ และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานไทยให้สามารถยกระดับรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศ
7. ภาคเอกชนคือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator ทําหน้าที่สนับสนุนการสร้างโอกาสของภาคเอกชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน 8. ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ หรือ White Paper เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่ๆ สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต
...
ต่อมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางสังคมไทย" ตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติมากมาย ทั้ง Climate Change, Pollution, Pandemic, Conflicts, Digital Transformation, Population Crisis ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าความท้าทายทางด้านสังคมย่อมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเผชิญกับอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างฉายภาพ "ปัญหาสังคม" จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผู้แจ้ง ร้องเรียน สอบถาม ผ่านช่องทางของกระทรวง พม. เดือนละ 12,000-18,000 ราย โดยในเดือน พ.ค. รับแจ้ง 18,607 กรณี ซึ่งกว่า 50% เป็นเรื่อง "ความสัมพันธ์ในครอบครัว" ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทย ที่จะบ่มเพาะและสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งของสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังสั่นคลอน
“เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพเชิงความคิด สติปัญญา และความสามารถทางกายภาพถูกบั่นทอน โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤติประชากร” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติประชากร ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประการแรก คือ ประชากรไทยลดลงจาก 70 ล้านคน จะเหลือ 58.26 ล้านคน ในอีก 25 ปี ประการต่อมา คือ เด็กเกิดน้อย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ และประการสุดท้าย คือ รัฐต้องรับภาระงบประมาณด้านสังคม จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งการรับมือนั้น หลายประเทศใช้การกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย พัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อน "นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร" จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมไทย เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ