โลกกำลังใส่ใจเรื่องลดโลกร้อน มีมาตรการบังคับให้ทั่วโลกใช้พลังงานสีเขียวมากขึ้น เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Boarder Adjustment Mechanism) เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง...มาตรการนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การบังคับเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2569
เรามีเวลาอีกเพียงปีครึ่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยต้องหาทางปรับตัวให้กระบวนการผลิตสินค้าของตนลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้มีราคาที่แข่งขันได้ในตลาดอียู สินค้า 6 ประเภทที่ถูกบังคับ คือ ปูนซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน เหล็ก และอะลูมิเนียม ก่อนที่จะบังคับเต็มรูปแบบกับทุกสินค้าในปี 2578 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านี้
...
ส่วนอีกมาตรการ CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) บังคับใช้โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ให้สายการบินของประเทศสมาชิกต้องลดการปลดปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ปี 2027 หรือมีเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น และโลกกำลังตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2050 หรือ 26 ปีข้างหน้า
แค่โดน 2 มาตรการนี้เข้าไปก็จุกแล้ว ต่อไปอาจมีมาตรการต่างๆออกมาอีกมากมาย ประเทศไทยจะร่วงหรือจะรอด ขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานสะอาด
พลังงานสะอาดส่วนสำคัญมาจากภาคการเกษตร ที่ไทยเรามีวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นเป็นโอกาสใหญ่ รีบชี้เป้าให้รัฐบาลเตรียมหาแนวทางเปลี่ยนเกม สู้ให้กับสินค้าของไทย ที่เน้นอยู่แค่เพียงส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์และลม ด้วยการเสนอแนวทางส่งเสริมใช้ “พลังงานสะอาดจากภาคเกษตร” และ “พลังงานชุมชนเกษตร” ที่นอกจากจะเป็นทางรอดจากแรงกดดันของมาตรการระดับโลกแล้ว ยังเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว และลดการขาดดุลจากการนำเข้าพลังงาน
รู้ไหมว่า ในโลกนี้ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได้มาจากพลังงานชีวภาพ (Bio Energy) มากถึง 55% และมากกว่า 6% ของการผลิตพลังงานในโลกใบนี้ และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 8% ต่อปี ซึ่งแตกต่างจากไทยไปเน้นหนักพลังงานแสงแดด และลม ที่ให้พลังงานน้อยกว่า
พลังงานที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆนั้น มีตั้งแต่พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนและไอน้ำ เชื้อเพลิงภาคการขนส่ง ซึ่งพลังงานเหล่านี้สามารถผลิตได้จากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรราคาถูกเป็นวัตถุดิบทั้งนั้น เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้ “wood pallet” ชีวมวลอัดแท่ง ที่สามารถนำฟางข้าว ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด แกลบ กะลาปาล์ม ทะลายปาล์มเปล่า มาเป็นเชื้อเพลิง หรือการใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ใช้เอทานอลและไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง และเรากำลังจะเข้าสู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่เรียกว่า “Bio jet Fuel” ที่เริ่มจากการนำน้ำมันทอดอาหารมาใช้ในเบื้องต้น และอาจขอให้มีการพิจารณาให้นำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นวัตถุดิบโดยตรง
...
ร.อ.ธรรมนัส ให้ข้อมูลต่อว่า เมื่อ 2 ปีก่อนยุโรปออกกฎหมาย Renewable Energy Directive (RED III) เร่งการผลิตก๊าซมีเทนชีวภาพจากวัสดุการเกษตร เพิ่มจาก 3.5 พันล้าน ลบ.ม.ในปัจจุบัน เป็น 36 พันล้าน ลบ.ม. ในปี 2030 เพื่อนำก๊าซชีวภาพนี้ไปผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ
และตอนนี้อินโดนีเซียประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก จะใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพผสมเข้าไปในโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3-5% ไม่งั้นสินค้าของอินโดจะถูกกีดกันอย่างหนักเพราะใช้ถ่านหินเยอะ และยังได้ผสมไบโอดีเซลมากถึง 35% ในน้ำมันดีเซล บราซิลประเทศที่ใช้ชีวมวลจากเศษวัสดุการเกษตรมากที่สุดในโลก เน้นการใช้เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวลจากโรงงานน้ำตาล จีนเน้นไฟฟ้าชีวมวลและส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ สหรัฐฯ เน้นไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล อินเดียเน้นผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากชีวมวล และเยอรมนีเน้นผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ
...
“ผมมองว่า พลังงานภาคเกษตรนี้ เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของภาคเกษตร ดูอย่างจีน อินเดีย บราซิล ที่เป็นแกนหลักในกลุ่ม BRIC กลายเป็นแกนนำในการใช้พลังงานและไฟฟ้าชีวมวลไปแล้ว หากเราสามารถทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกิจการพลังงาน ไม่ว่าผลิตไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอล ไบโอดีเซล น้ำมันเครื่องบิน นอกจากจะเป็นการยกระดับเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ตกเป็นเป้าของมาตรการระดับโลกและลดการนำเข้าพลังงานแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
แต่สิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่อง เราจะต้องบริหารจัดการให้ราคาพลังงานเหล่านี้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่แพงและส่งต่อรายได้ไปถึงมือพี่น้องเกษตรกรให้ได้จริง ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่งได้จะดีมาก และเป็นความฝันของผมที่อยากผลักดันเรื่องนี้ให้เกษตรกร” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวทิ้งท้ายวิสัยทัศน์ที่ท้าทายไว้เป็นการบ้านข้อใหญ่ของตัวเองและรัฐบาล
ก่อนที่ประเทศไทยจะหนีไม่พ้นวลี “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ซ้ำซาก...เพราะตั้งรับปรับตัวไม่ทันซะที.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม