คำนำของสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม ในหนังสือ นิทานอีสปสำหรับเด็ก (พลพงษ์ จันทร์อัมพร แปล พ.ศ.2555) ตอนหนึ่งบอกว่า ตัวละครของอีสปมักเป็นสิงสาราสัตว์ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนมนุษย์

เช่น สิงโต หมายถึงผู้มีอำนาจ หนู หมายถึงผู้ต่ำต้อย หมาจิ้งจอก คนเจ้าเล่ห์ และลา คนโง่เขลา ฯลฯ

เปิดอ่าน เรื่องแรก หมาป่ากับลูกแพะ (ขอย้ำ...แพะ ไม่ใช่แกะ)

ลองอ่านกันดู เผื่อจะเดาได้ แพะ อีสปตั้งใจหมายถึงมนุษย์แบบใด?

กาลครั้งหนึ่ง ยังมีลูกแพะตัวน้อย เขาของมันกำลังเติบโต ทำให้มันหลงคิดว่า มันเติบใหญ่เป็นแพะโตเต็มวัย ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว เย็นวันนั้น ขณะที่ฝูงแพะเริ่มเดินออกจากท้องทุ่งมุ่งจะกลับบ้าน แม่ของมันก็ส่งเสียงเรียกหา

แต่เจ้าแพะน้อยหาได้ใส่ใจไม่ มันเดินก้มหน้าแทะหญ้านุ่มริมทางต่อไป ไม่นาน...เมื่อแพะน้อยเงยหน้า ฝูงแพะก็จากไปหมดแล้ว

ดวงอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า เจ้าแพะน้อยเพิ่งรู้สึกตัวเองว่าอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง

เงามืดเริ่มทอดยาวไปตามพื้นดิน สายลมเย็นยะเยือกพัดเฉื่อยฉิว ในทุ่งหญ้าเกิดเสียงหวีดหวิวชวนขนหัวลุก

แพะน้อยเนื้อตัวสั่น ใจมันคิดไปถึงหมาป่าผู้น่าสะพรึง มันเริ่มเดินข้ามท้องทุ่งขณะส่งเสียงร้องเรียกหาแม่

ทว่ายังไม่ทันจะถึงครึ่งทาง หมาป่าตัวที่แสนจะน่ากลัวตรงหน้า ก็ยืนถมึงทึงอยู่ในดงไม้

วินาทีนั้น มันรู้ตัวดี มันแทบไม่มีความหวังที่จะรอดเหลืออยู่อีกแล้ว “ได้โปรดเถิด ท่านหมาป่า” เสียงเจ้าแพะน้อยสั่นสะท้าน “ข้ารู้ว่า ท่านจะกินข้าเป็นอาหาร

แต่ก่อนอื่นใด ขอท่านได้โปรดเป่าขลุ่ยให้ข้าฟังสักเพลง ข้าอยากจะเต้นรำ มีความสุข เป็นครั้งสุดท้าย”

หมาป่าเกิดความคิด ร้องรำทำเพลงสักนิด...ก่อนลงมือกิน เป็นคำขอที่บังเอิญถูกกับรสนิยม

...

คิดแล้ว มันก็เริ่มบรรเลงเพลงสนุกๆตามลีลาหมาป่า ขณะเจ้าแพะน้อยก็กระโดดโลดเต้นตามไปมา ด้วยท่วงท่าร่าเริง

ท่ามกลางอากาศยามเย็น เสียงขลุ่ยของเจ้าหมาป่าโหยหวนไปไกล ได้ยินไปถึงฝูงแพะที่กำลังเคลื่อนขบวนกลับบ้านช้าๆ เสียงขลุ่ยทำให้บรรดาหมาเลี้ยงแพะหูตั้งชัน

พวกมันจดจำเพลงที่เจ้าหมาป่าชอบร้อง ก่อนจะฉลองเหยื่อได้

ด้วยสัญชาตญาณหมาด้วยกัน ทันควัน พวกหมาเลี้ยงแพะพุ่งทะยานกลับไปยังต้นเสียงเพลงขลุ่ยในทุ่งหญ้า

และทันที...เหมือนกัน เสียงเพลงขลุ่ยของเจ้าหมาป่าก็หยุดลง เจ้าหมาป่าหันหลังวิ่งโกยแน่บหนี

โดยมีฝูงหมาเลี้ยงแพะฝูงใหญ่ตามติดอยู่ข้างหลัง

ในวินาทีหนีที่แสนจะเร้าระทึกนั้น เจ้าหมาป่ายังพอสำนึกได้ มันเป็นหมาป่าหน้าโง่ เผลอเป็นนักเพลงเป่าขลุ่ย หวังให้เจ้าแพะน้อย พึงใจ ไปเพื่ออะไร?

ทั้งที่มันเกิดมาเป็นหมาป่า นักล่าตัวจริง

ตามธรรมเนียม ทุกเรื่องของนิทานอีสป ต้องจบทำนองนี้ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าปล่อยให้อะไร มาเปลี่ยนความตั้งใจของตัวเอง

เป็นไง! พอเดากันออกบ้างหรือไม่? เจ้าแพะน้อยตัวนี้ แตกต่างจากเจ้าลูกแกะ ตัวที่เจอเจ้าหมาป่าริมลำธาร...แค่ไหน

เดาแล้ว ก็ไม่ควรลืม เจ้าแพะน้อยรอดตัวได้ เพราะเป็นเรื่องสมมติในนิทาน

ฮึ่ย! ถ้าเป็นเรื่องในชีวิตจริง โอกาสที่เจ้าหมาป่าจะเป่าขลุ่ยให้เจ้าแพะน้อยเต้นตาม...คงไม่มี.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม