ประเด็นใหญ่สิ่งแวดล้อม...กรณี อากาศแปรปรวน และร้อนสุดขั้วใน “อเมริกา” และ “อินเดีย”...สหรัฐอเมริกาถูกโดมความร้อน (heat dome) ครอบอย่างรุนแรง อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดถึง 46.1C (115F) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย อริโซนา ยูทาห์ และเนวาดา

และ...โดมความร้อนยังแผ่ขยายไปครอบคลุมประชาชนถึงร้อยล้านคนใน 27 รัฐ โดยประชาชนกว่า 86 ล้านคนได้รับคำเตือนให้ระวังภัยความร้อน นอกจากนี้มีประชาชนเสียชีวิตประมาณ 1,220 คนในแต่ละปี เนื่องจากความร้อนจัด...“extreme heat”

ส่วน “อินเดีย” เจอคลื่นความร้อน (heat wave) อุณหภูมิสูงสุดถึง 50 องศาเซลเซียส ทำให้มีคนตายถึง 56 ศพ และเป็น “ฮีตสโตรก” หรือ “ลมแดด” มากกว่า 25,000 คน

กรณี “โดมความร้อน (heat dome)” เกิดขึ้นจากการที่ความกดอากาศสูงในบรรยากาศ (มวลอากาศเย็น) ได้กดทับและปิดกั้นไม่ให้อากาศที่ร้อนกว่าด้านล่างสามารถลอยขึ้นไปข้างบนได้

ทำให้อากาศร้อนถูกกักไว้ เหมือนถูกโดมอากาศร้อนครอบไว้อีกทีจนอุณหภูมิพุ่งสูง

สำหรับ “คลื่นความร้อน (heat wave)” เกิดจากการสะสมความร้อนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีลมหยุดนิ่ง ทำให้ความร้อนที่สะสมอยู่ไม่สามารถเคลื่อนที่ แต่ถ้าหากมีลมเย็นพัดเข้ามาในพื้นที่สถานการณ์อาจคลี่คลายได้และอีกสาเหตุคือมีลมพัดเอาความร้อนจากพื้นที่หนึ่ง เข้าไปยังอีกพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า

...

...จนทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเห็นผลกระทบเป็นรูปธรรม ให้หวนคิดถึงการฟื้นฟูดูแลแก้ไขใกล้ตัว อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม หยิบยกกรณีการแบ่งปันคาร์บอนจากป่า...กลุ่มทุนได้คาร์บอนด์เสริม รัฐได้เพิ่มป่า ชาวประชาได้อะไร?

“ประเทศไทย”...ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โดยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึงร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ.2573

ประเด็นถัดมา...ในปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ป่าของรัฐ

...มีการพัฒนาผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า “T–VER”

ข้อมูลของกรมป่าไม้พบว่าในช่วงปี 2565 -2566 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกฟื้นฟูป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนถึง 12 บริษัท และปลูกป่าไปแล้วเกือบ 3 แสนไร่ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโครงการปลูกป่าชายเลน

เพื่อคาร์บอนเครดิตในระยะ 10 ปี จำนวน 300,000 ไร่ (พ.ศ. 2565–2574)

ในการประชาพิจารณ์ให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้มีความเห็นและข้อมูลในพื้นที่จริงจากพี่น้องประชาชนที่น่าสนใจ ได้แก่

ข้อแรก...ในสัญญาการแบ่งปันผลประโยชน์ในคาร์บอนเครดิตระหว่างชุมชนกับบริษัทในหลายพื้นที่ พบว่าการแบ่งผลประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิตของป่าชายเลน บริษัทจะได้ถึง 70% ชุมชนได้ 20% หน่วยงานรัฐได้ 10% ซึ่งเป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม

“กลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ได้ปลูกป่าเอง ชุมชนดูแลรักษาป่าชายเลนกันมาหลายสิบปี จนเป็นป่าที่สมบูรณ์ ต้นไม้โตแล้วสามารถนำไปขายคาร์บอนเครดิตได้เลย อยู่ๆสิทธิในการรักษาป่า การใช้ประโยชน์จากป่า หรือแม้กระทั่งประโยชน์การขายคาร์บอนเครดิต รัฐกลับมอบให้อยู่กับกลุ่มทุน...”

แบบนี้เป็นการชุบมือเปิบหรือไม่? มีคำถามว่า...ทำไมชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนไม่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง นี่เป็นวิธีการแย่งยึดฐานทรัพยากรของชุมชนให้กับกลุ่มทุนโดยภาครัฐอย่างเห็นได้ชัด

...

ข้อสอง...ภาคประชาชนให้ความเห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นการฟอกเขียว โดยการแย่งยึดทรัพยากรของพี่น้องด้วยการที่ภาครัฐยกไปให้กลุ่มทุน ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อน

แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนที่ก็ยังคงได้สิทธิในการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง ด้วยการสร้างกลไกการตลาด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น

ถึงตรงนี้ให้รู้ไว้อีกว่า คนไทยกำลังจะต้องเสีย “ภาษีคาร์บอน” เพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกัน “ลดโลกร้อน”...อาจารย์สนธิ บอกอีกว่า ปี 2569 ยุโรปจะเริ่มเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM หรือภาษีนำเข้าคาร์บอนเป็นมาตรการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภทก่อนเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป

เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

อุตสาหกรรมมีเป้าหมายจากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้าโดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้าด้วย

โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น และต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า

...

นอกจากนี้ยุโรปกำลังจะมีการขยายไปที่สินค้าประเภทอื่นๆอีกด้วย เช่น สารอินทรีย์พื้นฐานพลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น แน่นอนว่า “ผู้ส่งออกไทย” ต้องเตรียมตัวจ่ายเพิ่ม...

สำหรับประเทศไทยในปีงบประมาณปี 68 กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นำร่อง โดยจะนำภาษีคาร์บอนแทรกอยู่ในโครงสร้างภาษี คาดว่า...จะเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน โดยเริ่มต้นที่น้ำมันดีเซลก่อน ซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน

ดังนั้นน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะเสียภาษีคาร์บอนเท่ากับ 0.46บาทต่อลิตรโดยบวกไว้ในราคาน้ำมัน ซึ่งภาษีคาร์บอนเป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก มีฐานภาษีในการจัดเก็บ 2 แบบคือ...จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า

และ...จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค ต่อไปผู้บริโภคเองอาจจะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ...เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยดูจากฉลากคาร์บอนที่ติดมากับสินค้า

บันทึกช่วยจำทิ้งท้าย ร่วมด้วยช่วยกัน “ประเทศไทย” ปักหมุดมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 รวมถึงขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปคาร์บอนไดออกไซด์จากค่าสูงสุดของไทย 388 ล้านตันต่อปี...ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี

โดยแผนระยะสั้นจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2573 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40%.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม