ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนมีความ หวังและความต้องการความสำเร็จในสิ่งที่หวังด้วยกันทั้งนั้น บางคนก็ประสบความสำเร็จบางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะการแข่งขันด้านกีฬาที่เป็นคุณสมบัติความสามารถเฉพาะตัว
จักเกิดขึ้นกับ “นักกีฬา” คนนั้น ด้วยความเพียรพยายามผนวกกับความมุ่งมั่นจนสามารถนำพาตนเองไปสู่ความสำเร็จได้
พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า เราจึงควรมาศึกษาถึงต้นเหตุในความสำเร็จของนักกีฬาแต่ละคนว่าในจิตใจของพวกเขาได้มีธรรมะข้อใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและควรนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นได้เลียนแบบกันบ้าง
แต่ละชีวิตที่เกิดมาย่อมเกิดในสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป แต่ละคนเกิดในครอบครัวชุมชนหมู่บ้านที่มีบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป บางพื้นที่สามารถโน้มน้าวให้บุคคลนั้นๆรักและชื่นชอบการกีฬาขึ้นมาได้ เนื่องจากมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยนักกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่งให้สัมผัสใกล้ชิด
...
นับตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนหลับตานอนไปในตอนค่ำ โอกาสที่จะผลักดันให้บุคคลนั้นรักและชื่นชอบกีฬาประเภทนั้นก็เป็นไปได้สูง แต่ที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพร่างกายของผู้ที่จะเป็นนักกีฬาในเบื้องต้นจะต้องมีความสมบูรณ์ทุกด้านเป็นที่ตั้ง ร่างกายก็สมบูรณ์และจิตใจก็สมบูรณ์
“นี่คือปราการสองด่านแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ใจรัก การกีฬาด้านใดด้านหนึ่งแต่ร่างกายไม่อำนวยหรือไม่สมบูรณ์แล้วก็ยากที่จะกลายเป็นนักกีฬาที่ดีขึ้นมาได้”
“คุณธรรม” คือความงามทางจิตใจของคนย่อมเกิดขึ้นภายในใจของแต่ละคน นับตั้งแต่ความมีเมตตาอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น การรู้จักคิดช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละ การให้อภัยแก่คนอื่น การแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่น การรู้จักบาปบุญคุณโทษ การรู้จักเกรงกลัวต่อบาป การรู้จักมีความอดทนอดกลั้น
การรู้จักบุญคุณของคนอื่น การรู้จักละความโลภความโกรธความหลง การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัว...สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากจิตใจภายในตัวของบุคคลนั้นก่อนแล้วแสดงออกมาทางการพูดและการกระทำจนกลายเป็น “จริยธรรม” คือความงามทางพฤติกรรม การพูดที่ดี การกระทำที่ดี การมีจิตใจที่งดงาม
“นักกีฬาก็เช่นเดียวกันเมื่อมีจิตใจที่งดงามแล้วแสดงออกทางด้านกีฬาที่ตนเองถนัดและชื่นชอบ ได้กลายเป็นนักกีฬาที่สร้างสรรค์ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ ความเป็นนักกีฬาที่ดีก็จะติดตามมาจนกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นหรือเรียกว่าฮีโร่ก็ว่าได้”
ดังนั้นนักกีฬาทุกชนิดทุกประเภทล้วนเป็นผู้สร้างสังคมให้มีความสุขได้เช่นเดียวกัน นักกีฬาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างความดีให้กับสังคมจนกลายเป็น “ยาวิเศษ”
ความสำเร็จของการเป็นนักกีฬามิใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ นักกีฬาจะต้องมีใจรักเป็นเบื้องต้น มีความเพียรพยายาม มีความอดทน ในการฝึกซ้อม มีระเบียบวินัยในตนเอง หมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อทางร่างกายจำเป็นต้องอาศัยเวลาสะสม มีความมุ่งมั่นให้ไปสู่ความสำเร็จให้ได้
พระครูจินดาสุตานุวัตร ย้ำว่า ความเพียรและความมุ่งมั่นนี้บางทีอาจจะไม่มีใครพบเห็น หากแต่มาพบเห็นเมื่อเขาประสบความสำเร็จบนเวทีหรือในสนามการแข่งขันเท่านั้น การเป็นนักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จได้จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน วันนี้ไม่ประสบความสำเร็จก็เพียรพยายามใหม่
เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หวังไว้ว่าวันหนึ่ง “ความสำเร็จ” จะต้องเป็นของตน เมื่อความสำเร็จติดตามมาแล้ว ชื่อเสียงความนิยมชมชอบก็ติดตามมา ผลประโยชน์แห่งความสำเร็จก็ติดตามมา กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงทางสังคม ทรัพย์สินเงินทองก็ติดตามมา เครื่องอำนวยความสะดวกในปัจจัยสี่ก็มีเพิ่มขึ้นมา
ยิ่งเป็นนักกีฬาที่ไม่ถือตัวกลายเป็นบุคคลสาธารณะก็พร้อมที่จะเป็นเช่นนั้น ในที่สุดก็ “ไม่ลืมตัว” รู้จักเก็บสะสมทรัพย์สินเงินทองที่เข้ามาหา ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือคิดถึงในวันข้างหน้าเมื่อเวลาและโอกาสหมดไปก็จะได้มีทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้เลี้ยงชีวิต
จะได้ไม่กลายเป็นนักกีฬาหรือ “ฮีโร่” ผู้ตกอับ เพราะชื่อเสียงย่อมหายไปตามกาลเวลาหรือตามยุคตามสมัย ไม่มีอะไรที่จะอยู่ค้างฟ้าได้นอกจาก “ความดี”
...
“นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมีธรรมะทุกข้อเสมอไป มีเพียงข้อใดข้อหนึ่งที่ชัดเจนและยึดถืออย่างมั่นคงก็ถือว่าเป็นนักกีฬาที่ดีได้ รวมถึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็มีให้เห็นตลอด
แต่นักกีฬาท่านใดเมื่อประสบความสำเร็จลาภยศและผลประโยชน์ได้ตกมาถึงตนเองอย่างเต็มที่แล้วกลับหลงลืมตนเองหันหน้าเข้าสู่อบายมุขคือทางแห่งความหายนะของชีวิตสุดท้ายก็เป็นจุดต่ำสุด”
ความไม่ประมาทในการใช้ชีวิตจึงเป็นจุดสูงสุดของการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา
“มนุษย์เราชีวิตจึงเริ่มต้นที่ศูนย์แล้วค่อยๆขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งและสองต่อไปเรื่อยๆ จะไปสูงสุดเท่าใดนั้นไม่มีกำหนดไว้ของแต่ละคน พุ่งไปสูงสุดได้เท่าใดก็ได้เท่านั้น เพราะแต่ละคนย่อมมีความรู้ ความสามารถไม่เท่ากัน เมื่อสุดกำลังของตนเองก็หยุดได้เพียงเท่านั้น อย่าฝืนกำลังของความเป็นจริงในตนเอง”
เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่า “เป็นคนมุ่งไปสู่ความหวังเท่าที่ตนเองมี” ความสุขความสมหวังก็จะเกิดขึ้นกับตนเอง แต่ถ้าฝืนไปมากกว่านี้ล้วนแต่จะเป็นผลที่เสียหายติดตามมาเพราะเราดิ้นรนเกินกำลังที่ตนเองมีอยู่การรู้จักประมาณตนจึงเป็น “หัวใจ” ข้อสำคัญหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
การแข่งขันกีฬาทุกชนิดถ้ารู้จักยอมรับว่ามีแพ้มีชนะมีเสมอก็เป็นเรื่องธรรมดา ย่อมกลายเป็นกีฬาที่สร้างสุข แต่ถ้าการแข่งขันจบลงไปแล้วคนแข่งขันก็ดี ผู้ชมการแข่งขันก็ดี “ไม่ยอมจบ” ก็มีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาติดตามมาจนสร้างความเสื่อมเสีย ความเสียหายทั้งในวงแคบ...วงกว้าง
นับรวมไปถึงสร้างความเสียหายในภาพรวมของสังคมนั้นๆและชนชาตินั้นๆได้เช่นเดียวกัน ส่อให้เห็นพฤติกรรมหรือนิสัยอันไม่ดีของกลุ่มคนนั้นๆและสังคมนั้นๆได้
...
“เรายังนิยมและชมชอบนักกีฬาของบางประเทศบางชนชาติที่มีจิตใจผ่องใสมีมารยาทที่งดงามจนบ่งบอกถึงความเป็นชาตินั้นได้อย่างชัดเจน เมื่อนักกีฬาคนนั้นหรือกลุ่มนั้นเดินทางไปพื้นที่ใดก็ตามย่อมมีผู้คนที่รักและศรัทธาแห่ไปชื่นชม หรือแสดงออกถึงความดีความสามารถของนักกีฬาเหล่านั้นชัดเจน”
“กีฬา”ย่อมสร้างสรรค์สังคมให้มีความสุขได้และย่อมกลายเป็นบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมได้เช่นเดียวกัน แต่ทั้งมวลผลดีย่อมมีมากกว่าไหนๆ ความรักความสามัคคีย่อมเกิดขึ้นจากการกีฬา การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันย่อมเกิดขึ้นจากการเป็นนักกีฬา การรู้จักให้โอกาสซึ่งกันและกัน การรู้จักให้อภัย
การแข่งขันกีฬาทุกชนิดจึงเป็น “ความสุข” ที่มนุษย์ช่วยกันสร้างขึ้นมา แต่จะกลับเป็นความทุกข์ขึ้นมาทันทีตราบใดที่มนุษย์จัดให้เป็นการแข่งขันที่ “เล่นการพนัน” กีฬาจึงมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ทุกอย่างจึงอยู่ที่มนุษย์จะรู้จักนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์หรือกลายเป็นโทษ
นักกีฬาควรมีธรรมะในดวงใจ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักอภัย ส่วนคนชมกองเชียร์ก็ต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬาเช่นกัน ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ยอมจบเมื่อการแข่งขันจบ.
...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม