ดีเอสไอคุมตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตผู้บริหาร สตาร์ค ส่งอัยการสูงสุดแล้ว แต่เจอม็อบผู้เสียหาย ประมาณ 40-50 คน มาดักทวงเงินคืนโกลาหลลงรถไม่ได้ต้องวนรถพาตัวไปส่งฟ้องศาลทันที หลังจากนั้นไม่ยื่นประกันส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้านกลุ่มผู้เสียหายวอนศาลออกหมายขอหลักฐานการโอนเงินของบริษัทสตาร์คจากบริษัทคู่ค้าหลายแห่ง ยันเจอหลักฐานโยกเงินไปต่างประเทศแน่นอน โวยมีผู้บริหารบางคนยังไม่ถูกฟ้อง

กรณีทางการไทยขอประสานความร่วมมือกับทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้ช่วยจับกุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้บริหารบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลับมาดำเนินคดีตกแต่งงบดุล ฉ้อโกง ฟอกเงิน ความเสียหายมูลค่าเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดจับกุมตัวส่งผู้ต้องหากลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 13.30 น. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษปฏิบัติการ (ปพ.) และเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ไปส่งอัยการ ระหว่างคุมตัวออกจากอาคาร ผู้สื่อข่าวหลากหลายสำนักพยายามสอบถามแต่เจ้าตัวไม่ตอบ

ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ มาส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลอาญา มีผู้เสียหายประมาณ 40-50 คนมาดักรอชูป้ายพร้อมตะโกน “เอาเงินเราคืนมา” แต่เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวเเละผู้เสียหายวิ่งตามรถจำนวนมาก ตัดสินใจวนรถออกจากสำนักงานอัยการสูงสุด คาดว่าจะนำตัวไปฟ้องศาลอาญาทันที โดยพนักงานอัยการคดีพิเศษเจ้าของสำนวนนำคำให้การผู้ต้องหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอส่งเพิ่มเติมมาพิจารณาร่วมกับสำนักงานคดีพิเศษ ปรึกษาคณะทำงาน เเละนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษต่อไป

...

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวสั้นๆว่า วันนี้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาความผิดเกี่ยวกับการเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ร่วมกันทำงบดุลหรือบัญชีอันเป็นเท็จในเรื่องผลกำไร ฉ้อโกงประชาชนชี้ชวนหลอกลวงด้วยการแสดงความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับผลกำไรต่อประชาชนและสถาบันการเงิน ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ยักยอกในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น สมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และประมวลกฎหมายอาญาเป็นลักษณะความผิดเดียวกับผู้ต้องหาที่ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายคำร้อง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินการเป็นกระบวนการและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมจำนวนมาก จำเลยเคยหลบหนีระหว่างสอบสวนมาแล้ว และคดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายแล้ว หากจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ประสงค์จะสืบพยานประกอบคำรับสารภาพต่อไป

ที่ศาลอาญา เวลา 14.00 น.พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 แจ้งคำสั่งฟ้องนายชนินทร์แล้วนำตัวไปยื่นฟ้องศาลอาญาทันทีโดยไม่ต้องขอฝากขัง มีฝ่ายผู้เสียหายตามมาดูให้เห็นกับตาส่วนหนึ่ง จากนั้นนำตัวเข้าห้องเวรชี้ศาลตรวจฟ้องของพนักงานอัยการและอ่านฟ้องให้จำเลยฟังว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ 11 กระทง ป.อาญา 3 กระทง พ.ร.บ.ฟอกเงิน 2 กระทง ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนเงิน 14,378,000,000 บาทแก่ผู้ถือหุ้น 4,633 ราย กับอีก 12 สถาบันการเงิน จำเลยให้การปฏิเสธพร้อมแถลงว่า มีทนายความไว้ช่วยเหลือแล้ว ศาลจึงประทับรับฟ้องเป็นคดีดำที่ อ.1932/2567 นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 26 ส.ค.67 และให้คู่ความนำส่งบัญชีพยานสำเนาเอกสาร แก่อีกฝ่าย ทั้งนี้นายชนินทร์ไม่ยื่นประกันตัว ศาลออกหมายขังส่งไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ตัวแทนผู้เสียหายคดีหุ้นสตาร์คพร้อมพวกประมาณ 40 คน เดินทางไปดักรอนายชนินทร์ที่สำนักงาน อสส.เพื่อทวงเงินคืนแต่ไม่มีโอกาสได้พบ และตามมาที่ศาลอาญา เผยว่า นำหลักฐานมายื่นให้ศาลออกคำสั่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสตาร์คนำข้อมูลและหลักฐานมาให้ศาล เพราะอยู่ในความครอบครองของบริษัทเอกชนอื่น เช่น บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่เข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัทสตาร์ค หรือบริษัทที่ช่วยโยกย้ายเงินไปต่างประเทศ ทนายความบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเปิดหลักฐานได้แน่นอน วันนี้ตนมาขอความเมตตาศาลให้ออกคำสั่งให้บริษัทเหล่านี้นำหลักฐานมามอบให้ศาล เพราะข้อมูลชุดนี้เป็นหลักฐานสำคัญมัดตัวนายชนินทร์แน่นอน มีทั้งเส้นทางการเงิน เส้นทางการเซ็นเอกสาร และเส้นทางการวางแผนทุจริตผู้เสียหาย บริษัทสตาร์คอ้างว่า นำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ธนาคาร แต่ความจริงแล้วเป็นการนำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนภายในบริษัทเครือข่ายเพื่อฟอกเงิน

สำหรับหลักฐานที่ผู้เสียหายอยากให้ศาลออกคำสั่ง ได้แก่ 1.การตรวจสอบอาชญากรรมทางการเงิน ก่อนหน้านี้ผู้บริหารบริษัทสตาร์คชุดใหม่ จ้างบริษัทเอกชนไปตรวจสอบอาชญากรรมทางการเงินของผู้บริหารบริษัทชุดเก่า แต่ตรวจสอบไปมาบริษัทเอกชนดังกล่าวยกเลิกสัญญา ขอไม่ทำการตรวจสอบต่อ 2.เอกสารการเงินการบัญชีที่มีข้อมูลมากกว่างบการเงิน และ 3.เอกสารที่มีบริษัทหลักทรัพย์ชื่อดังระดับโลกช่วยบริษัทสตาร์คโยกย้ายเงินเป็นจำนวนมาก แม้ว่านายชนินทร์จะถูกจับแล้วแต่ผู้เสียหายอีกหลายรายยังรู้สึกไม่สบายใจเพราะยังไม่ได้เงินคืน ยังตั้งคำถามว่า ทำไมยังมีบางคนไม่ถูกฟ้อง เป็นที่มาของการนำหลักฐานมาร้องขอความเป็นธรรมกับศาลวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปกติผู้เสียหายจะยื่นแสดงพยานหลักฐานต่อศาลได้ ต่อเมื่อยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 เท่านั้น

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่