แค่แม่ค้าเนื้อไก่ภาคใต้ให้ข่าวว่าไก่แพง ทำปั่นป่วนกันไปทั่วเมือง ด้วยกรมการค้าภายใน (คน.) ออกอาการเร็วไปหน่อย

ทั้งๆที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เพิ่งทยอยฟื้นตัวขึ้นจากราคาตกต่ำอย่างหนักในไตรมาส 3/2566 ที่ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มเหลือเพียง กก.ละ 35-36 บาท/กก. เกษตรกรขาดทุนยับกันถ้วนหน้า พอราคาขยับในช่วงนี้จึงพอหายใจหายคอได้บ้าง จึงต้องฝาก คน.ทบทวนว่าได้ศึกษาภาระหนักอึ้งที่เกษตรกรต้องเผชิญพอแล้วหรือยัง

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อยังต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงลิบ จากราคาข้าวโพดที่หายากและมีราคาแพงถึง กก.ละ 12-13 บาท ต้นทุนค่าอาหารเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต อาหารไก่ถึง 60% คน. น่าจะรับรู้เพราะเป็นผู้กำกับดูแลราคาข้าวโพด และควรรีบหาหนทางแก้ไขและลดต้นทุนเหล่านี้ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคในการจัดหาข้าวโพด

นอกจากนี้ ช่วง มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดสภาพอากาศแปรปรวน ที่ทำให้ไก่เครียด ไม่กินอาหาร น้ำหนักลด ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น ใช้อาหารมากขึ้น นี่ก็ต้นทุนล้วนๆ ยังไม่นับช่วงแล้งที่ต้องซื้อน้ำ และจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอีกมหาศาล แน่นอนว่าราคาขายควรต้องพิจารณาควบคู่ต้นทุนของเกษตรกรเป็นสำคัญเพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ต่อ เพราะย่อมไม่มีใครอดทนประกอบอาชีพแล้วต้องขาดทุนเข้าเนื้อไปได้นานนัก

ส่วนประเด็นข่าวที่ออกมาว่า ส่งออกไก่มากจนกระทบไก่ในประเทศ ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะตลาดหลักของไก่ไทยคือ EU และ UK ซึ่งมีโควตาล็อกอยู่ ไม่ใช่จะเพิ่มการส่งออกกันได้ง่ายๆ แต่อันที่จริง ถ้าสินค้าไทยส่งออกได้มากเท่าไหร่ก็นับว่าดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น เรื่องส่งออกนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรจะส่งเสริมกันด้วยซ้ำ

...

เหล่านี้เป็นสถานการณ์จริงที่เกษตรกรต้องเผชิญ “กรมการค้าภายใน” ที่ออกตัวมาตรวจสอบปริมาณและราคาชิ้นส่วนต่างๆของโรงงานชำแหละไก่เป็นรายวัน น่าจะต้องมีความเข้าใจภาวะต่างๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องแบกรับ และทางที่ดีควรพิจารณาได้ด้วยว่า ต้องปล่อยให้ “กลไกตลาด” ทำหน้าที่ของมัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงใดๆ ก็จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ในขณะที่ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน.

สะ–เล–เต

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม