"มกอช." จับมือ "กรมวิชาการเกษตร" เจรจาญี่ปุ่นขอให้ยกเลิกการจำกัดสายพันธุ์ "ส้มโอ-มะม่วงไทย" ให้สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ทุกสายพันธุ์

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานฝ่ายไทยในการเจรจา ด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร, กรมปศุสัตว์, กรมประมง, กรมการข้าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่น จากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF), กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW), สำนักงานกิจการผู้บริโภค (CAA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งที่ 14

นายพิศาล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเจรจา เพื่อขอให้ญี่ปุ่นยกเลิกการจำกัดสายพันธุ์ส้มโอของไทย ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แจ้งยอมรับข้อมูลทางวิชาการ และผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และได้แจ้งยืนยันกรอบเวลาการดำเนินงาน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

...

ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นตกลงที่จะเร่งจัดทำเงื่อนไข การนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำ เพื่อเสนอให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณา พร้อมแจ้งว่าจะเร่งกระบวนการในลำดับถัดไป ในการหาข้อสรุปร่วมกันต่อเงื่อนไขการส่งออก และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของฝ่ายญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การประกาศอนุญาตนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์ จากประเทศไทยต่อไป

ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยยังใช้แนวทางเดียวกันในการเจรจา เพื่อขอส่งออกมะม่วงไปยังญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดสายพันธุ์ จากเงื่อนไขเดิมที่ส่งออกได้เพียง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เขียวเสวย โชคอนันต์ หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ พิมเสนแดง แรด และมหาชนการ โดยฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่า จะเริ่มพิจารณาข้อมูลมะม่วงของไทยทันที หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขของส้มโอเสร็จสิ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองประเทศ และผลักดันการเปิดตลาดร่วมกัน อาทิ มะม่วงของไทยและส้มของญี่ปุ่น โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยเช่นเดียวกัน ที่จะเร่งพิจารณาเงื่อนไขอนุญาตนำเข้าส้มสายพันธุ์ยูสุและคัมควอทของญี่ปุ่นเพิ่มเติมไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ยังครอบคลุมการหารือโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งครั้งนี้ MAFF และ MHLW ได้ตกลงที่จะดำเนินความร่วมมือและประสานงานกับฝ่ายไทยต่อไปในทั้ง 5 โครงการ ที่ฝ่ายไทยเสนอ ได้แก่ มาตรการควบคุมการนำเข้า และการเรียกคืนสินค้าเกษตรและอาหาร การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นม การวิจัยและควบคุมคุณภาพวัคซีนสำหรับสัตว์ และการควบคุมกำกับเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร โดยจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับระบบกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของไทย และและผูกความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

...

ผลสัมฤทธิ์ของการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่จะนำไปสู่การขยายการส่งออกส้มโอไทยไปสู่ญี่ปุ่น และสร้างโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนส้มโอของไทย โดย มกอช.และกรมวิชาการเกษตร พร้อมจะผนึกกำลัง ผลักดันและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ให้ประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ไปยังญี่ปุ่นได้โดยเร็วที่สุด

...

"มกอช.มีความพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของไทยทุกภาคส่วน เพื่อเป็นทีมไทยในการเจรจาผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทย สามารถขยายการส่งออก มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล" เลขาธิการ มกอช. กล่าว