หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความโกลาหล เพราะเข้าใจผิดว่า ต่อไปนี้ฟ้องชู้ไม่ได้แล้ว?!

ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ชำแหละผลพวงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ทันทีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ?!

มติเอกฉันท์บังคับให้มีผลเมื่อพ้น 360 วัน ทำให้หลายคนตีความกันผิดๆว่า ต่อไปนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้ไม่ได้แล้ว!!

ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากบุคคลย่อมเสมอกันตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่มาตรา 1523 บัญญัติให้สิทธิสามีมากกว่าภริยา อาทิ สามีมีเมียเก็บได้ถ้าไม่เปิดเผย แต่สามีฟ้องผู้ล่วงละเมิดภริยาได้แม้ไม่เปิดเผย ทำให้สิทธิไม่เท่าเทียมกัน จึงขัดรัฐธรรมนูญ?

เมื่อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐต้องแก้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน?

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. วุฒิสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ให้ทั้งเพศหญิงเพศชายและเพศอื่นๆมีสิทธิสมรสได้ อันเป็นการรับรองสิทธิของ LGBTQ แล้ว

หลังจากนี้คู่สมรสอาจเป็นชายกับชายหรือหญิงกับหญิง ใครจะเป็นสามีภริยาต้องไปตกลงกัน ชู้ของสามีและภริยาอาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้ ถือว่าทำร้ายจิตใจและหมิ่นศักดิ์ศรีคู่สมรสที่จดทะเบียนเช่นกัน

ดังนั้น กฎหมายจึงต้องรับรองสิทธิให้เรียกค่าเสียหายจากใครก็ได้ ที่บังอาจเป็นชู้กับคนอื่น!

เหลือบไปเห็นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่...) พ.ศ. ในรายงานผลการรับฟังความเห็น เป็นร่างที่มีเนื้อหาการสมรสเท่าเทียมที่ผ่านสภาแล้ว มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

พบว่า มีการแก้ไขมาตรา 1523 ไว้ตามหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เช่นกัน

...

ระยะเวลาการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน ก่อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผล จึงไม่น่ามีปัญหาที่จะให้กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับ?

ยืนยันครับ คู่สมรสยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้ แต่ไม่เหมือนเดิม

เพราะกฎหมายใหม่จะคุ้มครองมากกว่าเดิม คุ้มครองไปถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย...

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม