นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 พร้อมมอบ “รางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2567 ให้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ศึกษาไวรัสวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 และมอบโล่เกียรติบัตรรางวัลคุณภาพแห่งชาติการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ โดยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 18 รางวัล

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน193 ประเทศ ที่เข้าร่วมลงนามการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุผลภายใน พ.ศ.2573 มีเป้าหมายจะยุติการแพร่กระจายโรคติดต่อสำคัญ รวมถึงลดการป่วยและการตายก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนน สารเคมีอันตราย และมลพิษสิ่งแวดล้อม

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์การระบาดโควิด-19 บทเรียนครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า โรคระบาดส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต เศรษฐกิจ สังคม เพื่อไม่ให้ต้องเผชิญวิกฤติแบบเดิม ทั้งจากโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ สธ.ได้ทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ โรคระบาด พ.ศ.2566-2570 เร่งกวาดล้างโรคโปลิโอ กำจัดโรคมาลาเรีย โรคเรื้อน โรคเอดส์ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า โรคเท้าช้าง และโรคติดต่ออันตรายในไทยให้เหลือน้อยที่สุด ควบคู่กับโรคติดต่อประจำถิ่น อีกทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.พัฒนานโยบาย กฎหมายและการบริหารจัดการ 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดต่อ 3.ยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ 4.พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ สนับสนุนการวิจัย และ 5.พัฒนาการสื่อสารความเสี่ยง และระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรค เป็นต้น.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่