จากการที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) โดยกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม
ปัจจุบัน EUDR ยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย
“แม้ว่า EUDR ยังไม่มีผลบังคับใช้กับอาหาร แต่มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการติดตามข้อมูล สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา การสนับสนุนมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ และมีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มิเช่นนั้นจะกระทบต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR”
...
นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงเทพโปรดิ๊วส ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า ถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า ซีพีเอฟโดยกรุงเทพโปรดิ๊วส จึงร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจชั้นนำอย่าง Bunge และหลุยส์ เดรย์ฟัส (LDC) ในการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูก เพื่อยืนยันว่าถั่วเหลืองที่บริษัทนำเข้าไม่บุกรุกพื้นที่ป่า
“โดยการเชื่อมต่อระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถติดตามถั่วเหลืองตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การระบุแปลงเพาะปลูก การแปรรูป และการขนส่งจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกรุงเทพโปรดิ๊วสในการจัดหาถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของซีพีเอฟด้านการจัดหาวัตถุดิบที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน”
เนื่องจากระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาถั่วเหลืองของบังกี้ ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกในทวีปอเมริกาใต้กว่า 16,000 แปลง หรือประมาณ 20 ล้านเฮกตาร์ โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการระบุ และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการปลูกถั่วเหลืองในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันถั่วเหลืองที่จัดหาจากพื้นที่เสี่ยงร้อยละ 97 ของบังกี้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินอย่างโปร่งใส
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มการตรวจสอบย้อนกลับถั่วเหลืองยังช่วยให้กรุงเทพโปรดิ๊วสสามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตถั่วเหลือง เช่น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลือง รวมถึงการยืนยันข้อมูลของแปลงปลูกที่ประยุกต์ใช้ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เป็นต้น สำหรับการขับเคลื่อนสู่ Net-Zero ต่อไป
...
“การส่งกากถั่วเหลืองปลอดรุกพื้นที่ป่าลอตแรกจำนวน 185,000 ตัน ได้เดินทางถึงประเทศไทยในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นถั่วเหลืองตู้แรกจากบราซิล ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแปลงปลูกของเกษตรกรเป็นพื้นที่ไม่บุกรุกป่า รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน นอกจากนี้ บังกี้ยังเตรียมส่งมอบถั่วเหลืองปลอดการบุกรุกป่าอีกกว่า 180,000 ตันภายในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย นับเป็นก้าวสำคัญที่กรุงเทพโปรดิ๊วส สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการจัดการห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ยืนยันได้ว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาจากห่วงโซ่ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าได้ 100% ภายในปี 2568”.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม