“เซมิคอนดักเตอร์” วาระแห่งชาติ!

เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำเสนอ “แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” เพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูง (High-skill workforces) ต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เห็นชอบเพราะเห็นว่าเป็นแผนฯที่ดีมากมีความชัดเจนในการผลิตบัณฑิตออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมสมัยใหม่

สำหรับขั้นตอนจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะมีการประกาศแต่งตั้ง “บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างระบบนิเวศอย่างครบวงจร ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศไทยกลายเป็น “ฮับเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่” ของภูมิภาค

เซมิคอนดักเตอร์ คืออะไร?

เซมิคอนดักเตอร์ เรียกสั้นๆ ก็คือ “ชิป (Chip)” เป็นส่วนประกอบหัวใจสำคัญที่ทั่วโลกต้องการใช้ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในการผลิตผลิตภัณฑ์อัจฉริยะต่างๆ อาทิ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ โครงข่ายการสื่อสาร อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (Internet of Things) เป็นต้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า การขยายตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ จะเติบโตกว่า 100% มูลค่าตลาดจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจพูดได้ว่ามีอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โลก

...

น.ส.ศุภมาส เล่าว่า แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะมีทั้งแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว มีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนทางด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับปริญญาเอกและนักวิจัย รวมถึงจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับใช้ในการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรองรับอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

“ขณะนี้ กระทรวง อว.ได้เร่งหาแนวทางผลิตกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเซมิ คอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว 6 โครงการ ซึ่งมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ได้แก่ 1.โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะ สำหรับระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า โดยมีแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% ตั้งเป้าผลิตกำลังคนได้ 12,000 คนต่อปี

2.โครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอน ดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วยังสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี และได้เริ่มนำร่องไปแล้วกับ 8 บริษัทชั้นนำ

3.โครงการสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในมหาวิทยาลัยหรือบริษัทที่เป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องใน 6 มหาวิทยาลัยของไทย โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนในโครงการนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 200 คนต่อปี ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ถือเป็น Quick Win ที่จะเห็นผลได้ในระยะสั้น” รมว.อว.กล่าวถึงการดำเนินงานตามแผนฯในระยะเร่งด่วน

...

ขณะที่โครงการที่ 4 ถึง 6 จะเป็นแผนในระยะกลางและยาว เห็นผลภายใน 2-4 ปี โดยโครงการที่ 4 คือ การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ โดย 15 มหาวิทยาลัยมีทั้งระดับปริญญาตรีและโท คาดว่าจะผลิตกำลังคนได้ 1,300 คนต่อปี 5.การจัดทำหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ระดับปริญญาตรีและโท เป็นหลักสูตร International Program ตั้งเป้าผลิตกำลังคนไม่น้อยกว่า 200 คน ต่อปี และ 6.โครงการ อว.- อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด โดยการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ตั้งเป้า 25 คนภายใน 5 ปี

น.ส.ศุภมาส ยังฉายภาพอนาคตที่วางไว้ด้วยว่า แผนทั้งหมดมีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 15,000 คนต่อปี ขณะเดียวกันจะมีการยกระดับศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) อย่างน้อย 4 แห่ง เพื่อรองรับการฝึกอบรมกำลังคนทักษะสูง ไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปี และจัดตั้งสถาบันเซมิคอน ดักเตอร์ ภายใน 6 เดือน เพื่อพัฒนากำลังคนทักษะสูงให้แก่ภาคอุตสาหกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คนเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าไทยพร้อมผลิตกำลังคนรองรับการลงทุนและเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

...

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน กระทรวง อว. สามารถผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ประมาณ 3 หมื่นคนต่อปี รวมทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ที่สามารถป้อนเข้าสู่โปรแกรมต่างๆ เพื่อฝึกทักษะและสมรรถนะเฉพาะทางตามความต้องการของอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีกำลังคนในตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 แสนคนที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มทักษะให้มีความรู้ความสามารถ และในจำนวนนี้มีอีกเกือบ 9 หมื่นคนที่เป็นแรงงานทักษะสูงทางด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทัศนศาสตร์ และอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ทันที

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” เห็นด้วยกับ “แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” เพราะวันนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธปัญญาประดิษฐ์ (AI) รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยี 5G ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ฯลฯได้

...

การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จึงน่าจะตอบโจทย์การผลิตคนในโลกอนาคต

เพื่อเป็นแผนที่นำประเทศไทยพลิกเกมเศรษฐกิจ!

ทีมข่าวอุดมศึกษา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่