ทนายที่ออกมาทำหน้าที่หน้าจอทีวีมากกว่าหน้าบัลลังก์กำลังเป็นปัญหา กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในวงการทนายความ?

ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ นักศึกษาหลักผู้บริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูงของสภาทนายความ นำเสนองานวิชาการหลักสูตรผู้บริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 3

เรื่องปัญหาการดำเนินคดีมรรยาททนายความ กรณีทนายความประกาศโฆษณาอันเป็นการโอ้อวดชักจูงให้ลูกความมาหา หรือปัญหาทนายหิวแสงในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพทนายเป็นอย่างมาก!

ที่สำคัญกำลังขยายผลกระทบไปถึงวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วย

บทสรุปงานวิชาการพบว่า ทนายความต้องว่าความในศาล มิใช่ว่าความในสื่อ ทั้งที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ ไม่เคยสอนให้นำข้อเท็จจริงต่างๆมาเปิดเผยในสื่อ

ทนายความต้องรับผิดชอบดังนี้

1.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 323 ทนายความล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่ประกอบอาชีพหมอความทนายความนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!

2.ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ ข้อ 11 ห้ามมิให้ทนายความเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

3.พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ตามมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และจะต้องไม่ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ในการขอรับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น

ผู้กระทำต้องรับผิดทางแพ่งตามมาตรา 77 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าการดำเนินการนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ และต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 79 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทนายความใช้สื่อ หรือซื้อสื่อเพื่อการโฆษณาตนเอง สื่อมวลชนพึงระวังว่า หากรู้เห็นเป็นใจหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อาจมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา!

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม