ปัญหายังไม่คลี่คลายกรณี “เหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี บ.วินโพรเสส จำกัด” ในพื้นที่บ้านหนองพะวา จ.ระยอง แม้ตอนนี้จะควบคุมเพลิงไว้ได้แต่กากอุตสาหกรรมถูกไฟไหม้ได้เจือปนน้ำเจิ่งนองหลายจุด และกำลังถูกฝนชะล้างซึมลงใต้ดินไหลออกสู่ภายนอก และส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่ว
แต่เรื่องนี้ “ชาวบ้านหนองพะวา” ต้องทนอยู่กับกากอุตสาหกรรมมาตั้งแต่โรงงานเปิดในปี 2553 ส่งผลกระทบมากมายนำมาสู่เวทีแลกเปลี่ยน “ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา : ภาพสะท้อนปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย” ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดขึ้นโดย จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บอกว่า
ถ้าย้อนดูกรณีนี้ กรอ.ได้รับการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2556 “จนต้องใช้รถแบ็กโฮขุดรอบโรงงานก็พบบ่อฝังกลบกากอุตสาหกรรม” แล้วโรงงานก็พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการก่อน “สนง.อุตสาหกรรม จ.ระยอง” จะออกใบอนุญาตการครอบครองวัตถุอันตรายประเภทน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว
เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 3 ใบ ปี 2558 จำนวน 2 ใบ ปี 2559 จำนวน 4 ใบ ปี 2560 จำนวน 4 ใบ นับแต่นั้นยิ่งเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อชาวบ้านเรื่อยมา แล้วในปี 2564 กรอ.ก็แจ้งความร้องทุกข์ว่าโรงงานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต “ศาล” มีสั่งลงโทษกรรมการผู้จัดการบริษัทฯให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี
ทั้งยังให้บริษัทประสาน สนง.อุตสาหกรรม จ.ระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดวัตถุอันตรายของกลางให้แล้วเสร็จในเวลากำหนดคุมประพฤติ และให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
...
แต่เวลาผ่านมา 1 ปี “ยังไม่สามารถเริ่มกำจัดได้” ทำให้ กรอ.ต้องเร่งรัดให้ทำตามกรอบก่อนจะว่าจ้าง บ.เอส.เค.ฯเข้ามาจัดการบำบัดวัตถุอันตรายตามคำพิพากษาศาล สุดท้ายก็ไม่อาจทำได้ทันตามกำหนดนั้น
เช่นนี้ กรอ.ก็เข้าขอคำปรึกษากับ “อัยการ” เพื่อยื่นต่อศาลให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดวัตถุอันตรายเอง แต่ในระหว่างนี้ก็เกิดไฟไหม้โรงงานในวันที่ 22 เม.ย.2567 แล้วในวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาล จ.ระยองได้ให้ กรอ.เข้าแถลงแผนงาน และได้พิจารณาตามคำขอ ทั้งให้ทำแผนมาเสนอนำเงิน 4.9 ล้านบาท ที่จำเลยวางไว้ไปเป็นค่าใช้จ่าย
ปัญหามีอยู่ว่า “โรงงานไฟไหม้” ทำให้ถังสารเคมีในโรงงานกระจัดกระจายแย่หนักกว่าเดิม แถมมีกลิ่นสารเคมีเหม็นรบกวนชาวบ้านโดยเฉพาะสารแอมโมเนีย และไฮโดรคาร์บอน จนต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเชิญบริษัทกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมระดับประเทศ 4 บริษัทเข้ามาลงพื้นที่ดูสภาพสารเคมีในโรงงานที่ถูกไฟไหม้
ก่อนประเมินขนย้าย “กากสารเคมีไปกำจัด” ด้วยการทำแผนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การขนย้ายกรดกัดแก้ว 400 ตัน เข้าสู่กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ 2.ลูมีเนียมดรอสมีอยู่ในโกดัง 7,000 ตัน ต้องถูกนำไปรีไซเคิล แต่ในช่วงนี้เป็นฤดูฝนทางเจ้าหน้าที่จังหวัดได้ขุดบ่อเสริมคันดินรองรับปริมาณน้ำชะล้างสารเคมีไม่ให้ไหลไปยังชุมชน
ปรากฏพบว่า “เจอน้ำใต้ดินซึมออกมาเป็นน้ำมันและกรด” จึงสันนิษฐานว่าอาจมีการฝังไว้ใต้ดินอีก ทำให้ตอนนี้ของบประมาณปี 2568 ประมาณ 30 กว่าล้านบาท “เพื่อมาดำเนินการกำจัดกากของเสียนี้” เพราะปีงบประมาณ 2567 ได้ของบในการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ลักลอบทิ้งกากของเสีย 60 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 6.9 ล้านบาท
ทำให้นำเงินนี้ไปทำอย่างอื่น “ไม่พอต้องของบกลางมาช่วย” เพราะปัญหาลักษณะนี้ไม่ใช่มีเฉพาะที่นี้แต่ จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทราก็มี ดังนั้นอนาคตต้องมีเงินสำรองใช้จัดการมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม เบื้องต้นเสนอขอความเห็นชอบ “รมว.อุตสาหกรรม” ในการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 อันมี 3 เรื่องหลัก คือ
การแก้ไขบทลงโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และอายุความ 1 ปี ด้วยประสบการณ์รับราชการมา 38 ปี “คดีทิ้งกากอุตสาหกรรมมักขาดอายุความ” ทำให้มีบางคนมาแสวงหาผลประโยชน์โดยการไม่เคารพกฎหมาย แม้มีอยู่ไม่กี่โรงงานแต่ก็ทำลายภาพรวม อุตสาหกรรมมีอยู่ 6.5 หมื่นแห่ง และมีโรงงานกำจัดกากของเสีย 2 พันแห่ง
...
“ด้วยแนวคิดการเพิ่มโทษจำคุกกับผู้ประกอบการก่อมลพิษจากกากอุตสาหกรรมนี้มีเจตนาต้องการขยายอายุความ เช่น โทษจำคุก 1 ปี จะมีอายุความเพิ่มเป็น 5 ปี หรือถ้ามีโทษจำคุก 2 ปี มีอายุความ 10 ปี เพื่อให้ผู้ทำผิดเกรงกลัวกฎหมาย เพราะหากเทียบกับญี่ปุ่น มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับเงิน 100 ล้านเยน หรือ 25 ล้านบาท” จุลพงษ์ ว่า
ส่วนหนึ่งมาจาก “กฎหมายไม่สอดรับสถานการณ์” ทำให้หน่วยงานรัฐกำกับดูแลล่าช้า แล้วยิ่งก่อนหน้านี้ “รัฐบาลพยายามให้ออกใบอนุญาต” เพื่อเร่งการลงทุน ส่งผลให้ กรอ.ต้องสนองรับนโยบายออกให้ใน 30 วัน
เมื่อทุ่มเทมุ่งเน้น “นโยบายออกใบอนุญาตมากๆ” ย่อมส่งผลให้งานการกำกับดูแลหย่อนยานแล้วเรื่องนี้ก็เคยเสนอ “ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม” ต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล โดย สนง.อุตสาหกรรมจังหวัดสามารถออกใบอนุญาตควบคู่กับการดำเนินการควบคุมกำกับดูแลในส่วนหนึ่ง
แล้วต้องให้ “กรอ.” ที่เป็นหน่วยงานกลางออกกฎหมายมีความพร้อมด้านการตรวจวิเคราะห์ มีหน้าที่ในการลงตรวจสอบว่า “การออกใบอนุญาตแต่ละแห่งใช้หลักมาตรฐานเดียวกันหรือไม่” ในการแจ้งประกอบจัดตั้งโรงงานนั้น เพราะที่ผ่านมาลงพื้นที่ตรวจสอบมักปรากฏพบหลายโรงงานมีปัญหาไม่เป็นไปตามการจดแจ้งเลย
...
ต่อมาเสนอ “ตั้งกองทุนอุตสาหกรรม” เพราะแต่ละปีมีการลงโทษปรับโรงงานฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเงินไม่น้อย “เงินจำนวนนี้ส่งคืนกระทรวงการคลัง” จึงควรใช้เงินส่วนนี้มาตั้งกองทุนอุตสาหกรรม ทั้งต้องกำหนดมาตรการให้โรงงานบางประเภทต้องมีหลักประกันความเสียหายเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ถ้าหากเกิดปัญหา “ไม่ต้องรองบประมาณก็แก้ไขเหตุเฉพาะหน้าได้เลย” อย่างกรณี อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ “ศาล” มีคำสั่งให้โรงงานก่อปัญหากลิ่นเหม็นการปนเปื้อนน้ำใต้ดินฟื้นฟูแก้ปัญหา ผ่านมา 3 ปีก็ยังไม่ถึงไหน
จริงๆแล้ว “กฎหมายควบคุมกากของเสียอุตสาหกรรม” บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 ส่วนตัวเองมาเกี่ยวข้องในช่วงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับปี 2548 “ว่าด้วยความรับผิดชอบ” หากกรณีโรงงานก่อปัญหาต้องกำจัดของเสียนั้นเอง แต่ถ้าดำเนินการไม่ได้ก็ต้องให้ผู้อื่นทำ ด้วยการขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรม
เพื่อให้โรงงานปลายทางกำจัดแทน “ความรับผิดของโรงงานต้นทางก็จะจบลง” เมื่อมีการรับมอบกากของเสีย และลงบันทึกในระบบอิเล็กทรอนิกส์เสร็จสิ้น “แต่กระบวนการนี้โรงงานต้นทางจะเป็นผู้เลือกบริษัทกำจัดเอง” ทำให้โรงงานปลายทางรับกากของเสียไปแล้วไม่กำจัดตามหลักกฎหมายกลับเก็บไว้ หรือลักลอบทิ้ง
...
เหตุนี้จึงมีการแก้กฎกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ด้วยการนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.2566 “นับแต่นั้นภาระความรับผิดของโรงงานต้นทางจะไม่มีวันจบสิ้น” ดังนั้น โรงงานต้องเลือกบริษัทรับกำจัดที่มีศักยภาพนำของเสียไปกำจัดได้จริงๆ
ตอกย้ำว่า “กฎหมายกลับมีช่องโหว่ในการกลั่นกรอง” ปกติหน่วยงานรัฐจะสนับสนุนการลงทุน และต้องการให้โรงงานทุกแห่งมีมาตรฐานอยู่แล้ว “กระบวนการยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานจึงต้องรัดกุม” เพียงแต่กฎหมายอำนวยความสะดวกฯ บังคับให้ขอเอกสารเพิ่มเติมได้ครั้งเดียว แล้วต้องตอบอนุญาต หรือไม่อนุญาตทันที
เช่นนี้ทำให้ไม่มีทางเลือก “กรอ.” ต้องพิจารณากรณีใดเอกสารไม่เพียงพอก็จะไม่ออกใบอนุญาต เพราะเกรงจะมีผลกระทบตามมาภายหลัง อย่างไรก็ดีกระบวนการขอใบอนุญาตเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “แต่การตั้งโรงงานให้ตรงตามการแจ้งจดประกอบการหรือไม่” สิ่งนี้เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญที่สุด
เพราะเท่าที่ กรอ.ลงไปตรวจ ปรากฏว่า “โรงงานหลายแห่งไม่เป็นไปตามการขออนุญาตเลย” ดังนั้น ต่อไปนี้คงต้องมีการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เพราะถ้ามีปัญหามักจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างรุนแรง
นี่เป็นเสียงสะท้อนปัญหา-อุปสรรค “ระบบอนุญาตตั้งโรงงาน และการป้องกัน” ที่มีช่องโหว่ในการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างพื้นที่หนองพะวา จ.ระยอง จนยากจะแก้ไขได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม