นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับนิด้าโพล สำรวจการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน วันที่ 9-16 พ.ค. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน พบเกือบ 1 ใน 4 หรือ 23.5% เคยเห็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 6.3% หรือ 126 คน เคยถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ ด้วยวาจา 50% พูด-วิจารณ์สัดส่วนร่างกาย และถึงขั้นชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 2.88% ด้านกิริยา จ้องมองแทะโลมด้วยสายตามากที่สุด 86.21% ด้านร่างกาย 70.83% ถูกจับมือ แตะไหล่ แขน หลัง 66.67% เข้ามาใกล้หรือเบียด 8.33% ลูบ คลำ ต้นคอ บ่า หลัง 4.17% ถูกกอดจูบ และ 4.17% ถูกบีบบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศ

บุคคลที่เป็นผู้คุกคามทางเพศ คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศว่าทำอย่างไรต่อจากนั้น 38.10% ไม่ทำอะไรเลย 33.33% ใช้วิธีต่อว่า 3.17% ขอความช่วยเหลือจากบุคคลในบริเวณนั้น

มาตรการที่อยากให้หน่วยงานมี 33.5% อยากให้มีบทลงโทษชัดเจนกับผู้กระทำ 30.4% มีนโยบายป้องกันชัดเจน 25.8% มีช่องทางร้องเรียนสายตรงผู้บริหาร 25.25% ฝึกอบรมพนักงาน

ทั้งนี้ สสส.ได้ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ และจะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่