นอกจากการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากจีน มาเที่ยวไทยมากที่สุดแล้ว สินค้าการเกษตรที่ส่งไปขายในประเทศจีน และได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนจากประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกทุเรียนไปจีนประมาณ 26,385 ล้านบาท ส่วน เวียดนามที่มองว่าเป็นคู่แข่งของเรา ส่งออกทุเรียนมีมูลค่า 369 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับบ้านเราที่ส่งออกมีมูลค่า 717 ล้านเหรียญ ถือว่าเรายังทิ้งห่างคู่แข่ง เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนได้แค่ 7.9 หมื่นตัน แต่เราส่งไปได้ถึง 2.25 แสนตัน อย่างไรก็ตาม เรื่องพวกนี้จะประมาทไม่ได้ เหมือนกับที่เรา เคยส่งออกข้าวได้มากที่สุด แต่ปัจจุบัน ข้าวเวียดนาม เอาชนะข้าวไทยส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น การแข่งขันด้านสินค้าการเกษตรที่เราถนัดที่สุดจะต้องมีการพัฒนาทั้งคุณภาพ ปริมาณ และการตลาดอย่างจริงจัง
ราคาทุเรียนในตลาดจีน ขึ้นอยู่กับคุณภาพและสายพันธุ์ เช่นก้านยาวขายปลีก กิโลกรัมละ 60 หยวน หรือ 300 บาท หมอนทองราคา 120 หยวน หรือ 600 บาท ชะนี ราคากิโลกรัมละ 100 หยวนหรือ 500 บาท เป็นราคาที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เกต กรุงปักกิ่ง ถ้า เป็นตลาดขายส่งสินค้าการเกษตรที่เมืองหางโจว หมอนทองจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ถึง 350 บาท ส่วนราคาขายปลีกทุเรียนหมอนทองในประเทศไทยอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 160 บาท อย่างไรก็ตาม ทุเรียน ได้รับความนิยมมากในประเทศจีนเท่านั้น ส่วนในภูมิภาคอื่นๆไม่ค่อยได้รับความนิยมและการส่งออกทุเรียนก็จะเป็นเฉพาะฤดูกาล ไม่สามารถส่งออกได้ทั้งปี ขึ้นอยู่กับผลผลิตแต่ละปีด้วยจึงไม่สามารถที่จะคาดเดามูลค่าการตลาดได้ล่วงหน้า
เผอิญว่ามีโครงการของรัฐบาลที่พร้อมจะผลักดันให้ ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารโลก หรือ IGNITE AGRICULTURE HUB ตามนโยบายหลักของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จุดพลัง รวมใจไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก (สมัยก่อนใช้คำว่าเป็นครัวของโลก) ซึ่งรัฐบาลแต่ละยุคที่ผ่านมาก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้ครัวไทยเป็นแหล่งอาหารของโลกอยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนออกมา
...
ที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเรื่องของเกษตรและอาหาร เพราะมองเห็นรากฐานของประเทศที่เป็นเกษตรกรอยู่ถึง ร้อยละ 40 ของประชากร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกรขึ้น 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี โดยจะเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตไปจนถึงปลายน้ำการแปรรูปและการส่งออก โดยใช้มาตรการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันให้เป็นการเกษตรที่แม่นยำ มีความแน่นอนชัดเจน
ขณะเดียวกันก็ยึดหลักการเกษตรสีเขียว ความยั่งยืน ไม่เผาป่า รณรงค์ในการลดมลพิษจาก PM 2.5 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในมาตรฐานการส่งออกของโลกในปัจจุบันและอนาคตด้วย กระทรวงเกษตรฯในฐานะกระทรวงหลักในการผลักดันนโยบายด้วยการขับเคลื่อนสองนโยบาย ได้แก่ มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืนกับมาตรการยกระดับสินค้าการเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ในอนาคต อาหาร ยารักษาโรค จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยี เพราะมนุษย์กำลังสำลักเทคโนโลยีที่เกินความจำเป็น หมดยุคของสงครามเย็นเข้าสู่สงครามปากท้อง
สูงสุดคืนสู่สามัญ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม