หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ต้องนึกถึง “เพชรบุรี” เพราะ เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องหาดสวย ศิลปวัฒนธรรม วัด วัง งดงาม อาหาร อร่อยครบรสจนยูเนสโกยกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร
ดร.สุรัชสานุ์ ทองมี ผอ.สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ภาคกลาง (TCEB ภาคกลาง) นำคณะผู้บริหารสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ DMC และสื่อมวลชน สำรวจและทดสอบเส้นทางสายไมซ์ (MICE) ในกิจกรรม “Meaningful Culinary Journey”
ภายใต้ธีม The Flavors of Phetchaburi เปิดประสบการณ์ไมซ์ เชื่อมกรุง สัมผัสเมืองเพ็ชร์ระดับนานาชาติ 3 วัน 3 สถานีรสชาติ เส้นทางกรุงเทพฯ-เพชรบุรี เพื่อส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในพื้นที่ โดยจัดให้พักที่โรงแรม “ไอธารา รีสอร์ท แอนด์สปา” หาดแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม ที่บรรยากาศดีงามเพราะอยู่ติดทะเล
...
จากจุดสตาร์ตที่ “สถาบันอาหาร” ถนนอรุณอมรินทร์ หลังเรียนรู้เรื่อง ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอาหารไทยชาวคณะมุ่งหน้ามาสถานีแรก “รสเค็ม” ที่ร้านยุ้งเกลือ อ.บ้านแหลม อำเภอที่เป็นแหล่งผลิตเกลือทะเลที่ใหญ่ที่สุด
ในประเทศ ที่นี่เราได้เรียนรู้วิถีชาวนาเกลือ ทดลองช้อนเกลือที่ลอยปริ่มผิวน้ำและชิมอาหารโบราณที่หาทานยาก
อิ่มอร่อยมื้อกลางวันที่ “ครัวป้าหยัน” ร้านอาหารเก๋กู้ดรับแขกบ้านแขกเมือง แล้วไปสำรวจชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ชม Street Art และงาน เทศกาลหุ่นเพชรบุรีเมืองหนัง “Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024” มีการแสดงหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย
สถานีที่สองเป็นสถานีรส “เปรี้ยว” เราไปกันที่ สวนเลม่อน “Fresh Lemon–1” อ.ชะอำ ของ นายต่อศักดิ์ วัฒนวิจารณ์ อดีตนักธุรกิจอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต ที่เปลี่ยนชีวิตจากนักธุรกิจมาเป็นชาวสวนเลม่อน
ส่วนความเปรี้ยวจากมะนาวเราได้เรียนรู้เรื่องการปลูกมะนาวแป้นเพชรบุรีที่น้ำหอมและเปรี้ยวเข็ดฟัน เป็นสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 1 ใน 5 ของเพชรบุรี จาก ลุงน้อย–นายสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวแป้นรำไพคนแรก ผู้เป็น “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน”
จากนั้นมาสถานี “หวาน” น้ำตาลโตนดแท้ไร้สิ่งปลอมปน 100% ต้องน้ำตาลโตนดที่บ้านดงห้วยหลวง อ.บ้านลาด ที่นี่ผลิต น้ำตาลโตนดตามกรรมวิธีโบราณที่สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ “ดงห้วยหลวง” เป็นหมู่บ้านที่มีต้นตาลมากที่สุดในบ้านลาด ตาลบางต้นมีอายุกว่า 100 ปี
หลายคนมาที่นี่แล้วหลงใหลทุ่งนาป่าตาลที่สวยดังภาพวาด น้ำตาลโตนด บ้านดงห้วยหลวงเป็น 1 ใน 5 สินค้า GI ของเพชรบุรี ถือเป็นของหายาก Rare Item เหมาะเป็นของฝาก
จบการเยือนสถานี 3 รสชาติ TCEB พาไปชมกรุผ้าลายอย่าง “บ้านภูษา ผ้าลายอย่าง” ของ น้องนิค–นายธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ชาวเพชรบุรี มาสร้างบ้านเรือนไทยหรูหราอลังการ กลางดงตาลบ้านไร่มะตุ่ม ต.ท่าช้าง อ.บ้านลาด เป็นสถานที่จัดแสดงผ้าลายอย่าง
น้องนิคได้รื้อฟื้นผ้าลายอย่างที่อดีตเคยเป็นผ้านุ่งห่มในราชสำนักให้กลับมา ใช้นุ่งห่มได้อีกครั้ง โดยทำเป็นเจ้าแรกของไทยและยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าลายอย่างให้ละครดัง “บุพเพสันนิวาส–พรหมลิขิต” อีกด้วย
ดร.สุรัชสานุ์ สร้างความประทับใจให้ชาวคณะด้วยการจัดเลี้ยงต้อนรับ Gala Dinner-Chef’s Table ที่ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี มณฑลทหารบกที่ 15 ม.ราชภัฏ เพชรบุรี ททท.สนง.เพชรบุรี หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม จัดขึ้น ณ พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน)
...
อีกทั้งยังได้ชมหนังใหญ่ หนังตะลุง หุ่นกระบอก ชุดพิเศษ ตำนาน “มหาเภตรา” มหากำเนิด เกิดเมือง เพ็ชร์ จากงานเทศกาลหุ่นเพชรบุรีเมืองหนังที่ยกมาให้ชม อย่างใกล้ชิด สร้างการรับรู้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำไป ต่อยอดดึงดูดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ให้เข้ามาเที่ยวเพชรบุรีมากยิ่งขึ้น
อีกกิจกรรมที่น่าสนใจมากคือการ “ดูนก” เพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการดูนก จุดที่ไป ดูนกคือที่หมู่บ้านปากทะเล อ.บ้านแหลม แหล่งดูนก ที่มีชื่อเสียงของไทย ที่นี่มีนกให้ดูไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด
...
ก่อนอำลาเพชรบุรี ได้ไปชมโรงงานขนมหวานเมืองเพ็ชร์ “ลุงอเนก” ปัจจุบัน คุณโจ้–นายประวิทย์ เครือทรัพย์ ทายาท “ลุงอเนก” ยกระดับกิจการหันมาใช้นวัตกรรมอาหารเปลี่ยนขนมหม้อแกงจากใส่ถาดเป็นแบบกระปุก เน้นผลิตขนมพื้นเมืองเพชรบุรีในรูปแบบที่ทันสมัย เพิ่มมูลค่าด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ส่งขายทั่วประเทศ
จบทริปด้วยความประทับใจในเส้นทางไมซ์ มี “ทีมวันเดอร์รัสต์” และจรีรัตน์ อินทรจำนงค์ กับทีมมัคคุเทศก์เพชรบุรี นำโดย “พรชัย ขำมี” “แจ๊ค–จุฬาวิธ” จัดเต็ม ภูมิความรู้เรื่องเมืองเพ็ชร์แน่นปึ้ก.
ฐิตาภา ทรงเผ่า รายงาน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
ดร.สุรัชสานุ์ ทองมี
ผอ.TCEB ภาคกลาง
คณะผู้เข้าร่วมสำรวจฯ ช็อปปิ้งขนมไทยที่โรงงานขนมหวานเมืองเพ็ชร์ “ลุงอเนก” ต.สำมะโรง อ.เมืองเพชรบุรี ใช้นวัตกรรมอาหารเปลี่ยนขนมหม้อแกงจากใส่ถาดเป็นกระปุก.
ดร.สุรัชสานุ์ ทองมี ผอ.ทีเส็บ ภาคกลาง ทดลองช้อนเกลือ ที่สถานี “เค็ม” ร้าน ยุ้งเกลือ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี อำเภอที่ได้ชื่อว่ามีการผลิตเกลือทะเลใหญ่ที่สุดในประเทศ.