ความเคลื่อนไหว “วงการสีกากียังร้อนแรง” ไม่ลดน้อยลงเลยนับแต่เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 บิ๊กตำรวจผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บานปลายกระทบชื่อเสียงภาพลักษณ์มาต่อเนื่อง

จนกลายเป็น “วิกฤติความศรัทธาวงการตำรวจ” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สะท้อนสถานการณ์ใน สตช.เดินมาถึงจุดสำคัญจน “อดีตนายตำรวจ” จากสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และชมรมพนักงานสอบสวน “ผนึกกำลังเรียกร้องให้ปฏิรูป” ตั้งโต๊ะชี้ถึงปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นใน สตช.เมื่อไม่นานมานี้

เพื่อหวังล้างปัญหาจัดระเบียบแถวใหม่นี้โดย ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ก่อตั้ง SUPER POLL ให้ข้อมูลว่า ไม่นานนี้มีการศึกษาสำรวจความเห็นของตำรวจทุกสายงานทั่วประเทศที่ใกล้ชิดประชาชน ทั้งสายงานป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวนสอบสวน และฝ่ายจราจร

ผลปรากฏว่า “ตำรวจ” ต่างรู้สึกทุกข์ใจร้อยละ 79.8 เนื่องจากผู้ปฏิบัติ งานไม่พอต่อการดูแลพี่ประชาชน แล้วร้อยละ 72.6 ระบุว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานสอบสวน เพราะมีกฎหมายใหม่ออกมาให้ทำงานเชื่อมประสานกับศาลซับซ้อนขึ้น ทั้งยังมี พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน และอุ้มหาย พ.ศ.2565 อีกด้วย

...

ถัดมาร้อยละ 67.5 รู้สึกรายได้ไม่พอรายจ่ายจนมีหนี้สิน แล้วร้อยละ 65.3 รู้สึกว่าประชาชนมีอคตินำมาสู่ “ร้อยละ 64.4 ผู้เสียหายใช้อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อโซเชียลฯ” กดดันตำรวจทำงานเกินขอบเขตกฎหมาย

นอกจากนี้ตำรวจยังรู้สึกว่า “การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมถึงร้อยละ 57” ที่มองกันว่าระบบคุณธรรมไม่มีอยู่จริงแล้ว “ผู้บังคับบัญชา” มักนำภาระงานอื่นมาให้ทำ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลหน้าที่ของตำรวจตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตำรวจส่วนใหญ่ร้อยละ 82.9 ยังรู้สึกรัก และภูมิใจในความเป็นตำรวจเช่นเดิม

แต่เมื่อถามความเห็น “ในความหวังต่อการปฏิรูปตำรวจ” ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.5 ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ร้อยละ 96.1 ให้ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง” ทั้งขอให้เพิ่มตำรวจสายป้องกันปราบปราม “เพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึง” แล้วต้องคืนตำรวจให้ประชาชน มิใช่นำไปเดินตามนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล

เพราะสุดท้ายพอโยกย้าย “กลุ่มนี้ปาดหน้าคนทำงาน” ฉะนั้นตำรวจที่เชี่ยวชาญต้องเติบโตในหน่วยงาน และร้อยละ 90.5 ควรแก้ไขการคัดเลือกคนมาเป็นตำรวจให้มีทัศนคติที่ดีต่อหน้าที่ ประเทศชาติ ประชาชน

ยิ่งกว่านั้นเกือบร้อยละร้อย “ตำรวจ” ต้องการปฏิรูปเพื่อให้ได้รับการดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทน และนำตำรวจเดินตามนักการเมืองมาดูแล “ประชาชน” เพราะบางนายครองตำแหน่งที่โรงพักกลับไม่อยู่ดูแลประชาชน

นอกจากนี้ “ควรเพิ่มตำรวจให้เพียงพอต่อจำนวนประชาชนที่ต้องดูแล” ทั้งยังต้องจัดสรรอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องไม้ที่จำเป็นให้ใช้เพียงพอ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ขณะที่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจบอกว่า ทุกคนทราบดีกับสถานการณ์ตำรวจค่อนข้างตกต่ำ “ประชาชน และตำรวจ”ต่างออกมาเรียกร้องต่อการปฏิรูปเพื่อให้วงการตำรวจดีขึ้น และเป็นที่มาของสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยฯ ชมรมพนักงานสอบสวน มาเชิญชวนกำหนดหลักการปฏิรูปไว้ 4 เรื่อง คือ

ข้อ 1.ปฏิรูปตำรวจแล้วประชาชนได้อะไร 2.พฤติกรรมตำรวจที่ไม่ถูกต้องควรได้รับการแก้ไข 3.แก้ไขความขาดแคลนตำรวจ และ 4.แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ส่วนที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับในส่วน “การขาดแคลน” มีตั้งแต่ขาดบุคลากร งบประมาณ เครื่องมือ สวัสดิการ และเบี้ยเลี้ยงในโรงพัก ยกตัวอย่างงบประมาณงานสืบสวนติดตามคนร้ายมีน้อยไม่เพียงพอ “แต่สังคมกลับต้องการให้จับกุมคนร้ายให้รวดเร็ว” เมื่อมาดูงบกลับจัดสรรให้น้อยมาก เพราะการเดินทางไปจังหวัดอื่นก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น

เรื่องนี้ที่ผ่านมาเคยขอไป 100% แต่ก็ได้มาเพียง 40% ทำให้ได้ค่าน้ำมันรถยนต์เดือนละ 3,000 บาท จยย. 1,000 บาท/เดือน/คันใช้วิ่งตรวจ 24 ชม. “ไม่มีประเทศไหนทำได้เว้นแต่ไทย” ทั้งยังมีสาธารณูปโภคต้องจ่ายอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องไปตัดงบประมาณจาก “ค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจ” จากเดิมเคยได้เดือนละ 2,000 บาท ก็ถูกตัดเหลือแค่ 400 บาท “เพื่อมาใช้จ่ายให้เพียงพอในโรงพัก” กลายเป็นทำงานเฉือนเนื้อตัวเองแล้วในส่วน “พนักงานสอบสวน” แม้แต่เครื่องปรินต์ หรือกระดาษ ใช้ทำสำนวนคดีก็ยังไม่เพียงพอต้องซื้อเองด้วยซ้ำ

...

สิ่งเหล่านี้เคยพูดกันมาตลอด “แต่ไม่เคยถูกตอบรับ” พอมีงานเพิ่มเติมก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องงบประมาณเลยแม้แต่น้อย “ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นจะทำอะไรต้องถามงบประมาณก่อนเสมอ” ดังนั้นของดีราคาถูกไม่มีในโลก “ท่านต้องลงทุน” การออกมาเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการให้ตำรวจมีงบประมาณเพียงพอต่อการทำงาน

แล้วก็มิได้เรียกร้องมากเกินความจำเป็น “เพื่อจะได้ดูแลทุกข์สุขของ พี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง” ฉะนั้นการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ต้องการให้ทุกส่วนหันมาสนับสนุนตำรวจให้มีเงินเพียงพอต่อ “การทำงานอยู่ได้อย่างมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี” มิใช่ว่าทำงานตลอดทั้งวันแล้วกลับไม่สามารถมาดูแลครอบครัวตัวเองได้เลย

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยฯบอกว่า จุดมุ่งหมายสำคัญในการปฏิรูปตำรวจต้องให้ความสำคัญกับ “โรงพัก 2 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ” เพราะการจะสัมผัสเข้าถึงใจของประชาชนได้คือ “การให้บริการที่ดี” แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่สมัยก็ตามโรงพักยังได้รับการดูแลที่น้อยเกินไป

ขณะที่ “ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าน้ำมันปรับตัวตลอด” จนปัจจุบันตำรวจแทบจะไม่มีความสามารถในการดูแลพี่น้องประชาชนได้ “แม้ที่ผ่านมามีการปฏิรูปตำรวจหลายครั้ง” แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นตำแหน่งเพิ่มขึ้น เพื่อสนองนโยบายการร้องขอตำแหน่งให้กับทุกฝ่าย “แจกจ่ายความเจริญเติบโต” จากการสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมานี้

เหล่านี้ล้วน “ทำให้เกิดการหลงลืมดูแลการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของโรงพัก” จึงอยากเรียกร้องให้ความสนใจกับสถานีตำรวจไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย กำลังพล งบประมาณ และปัญหาอุปสรรคต่างๆ

ถัดมา “ตำรวจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภาพลักษณ์” ด้วยในสายตาประชาชน หรือสื่อมวลชนค่อยข้างเข้าขั้น “วิกฤติ” เพราะตำรวจไม่ดียังมีอยู่อีกมาก “แถมไม่ได้ถูกลงโทษอะไร” โดยเฉพาะคนเก็บส่วยเดินสายหาเงินกลับเจริญเติบโต แล้วตรงกันข้ามกับ “ตำรวจตั้งใจทำงานดูแลหน้าที่อย่างดี” ไม่เคยได้รับการดูแลให้เติบโตด้วยซ้ำ

...

เหตุนี้ทำให้ต้องมีผู้บังคับบัญชาที่ดี “ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด” สามารถให้คุณให้โทษตามหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน แต่การจะได้มาซึ่งผู้บังคับบัญชาดีคงต้องมีระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีคุณธรรม เพื่อให้โอกาสคนดีมีฝีมือได้เจริญรุ่งเรือง “คนไม่ดีใฝ่หาผลประโยชน์ต้องไม่เติบโต” สิ่งนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ฉะนั้นพฤติกรรมตำรวจ “ผู้บังคับบัญชาต้องให้ความสำคัญ” สกัดคนไม่ดีแล้วดันคนดีให้มีอำนาจต่อไป เพราะที่ผ่านมาการเติบโตขององค์กรตำรวจมักโฟกัส สตช.จนหลงลืมการพัฒนาสถานีตำรวจในภูมิภาคต่างๆ อันมีปัจจัยจากนายตำรวจก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงมักมาจากส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่

“เปรียบเทียบให้เห็นภาพจาก พล.ต.ท. 44 นาย มีส่วนปฏิบัติหน้าที่จริงดูแลพื้นที่โรงพักทั่วประเทศเพียง 10 นาย ส่วนที่เหลือเป็นหน่วยสนับสนุน หรือหน่วยอำนวยการ 34 นาย แล้วจำนวนนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จักงานโรงพัก และบางคนไม่เคยสัมผัสออกนโยบายแปลกๆ ทำให้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบตำรวจนี้” พล.ต.อ.ศักดา ว่า

...

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงจาก “อดีตนายตำรวจระดับสูงใน สตช.” ออกมาสะท้อนปัญหาอุปสรรค และความรู้สึกทุกข์ใจของข้าราชการตำรวจ “ผนึกกำลังต่อการปฏิรูป” ผลักดันข้อเรียกร้อง 5 ประเด็นสำคัญแก้ไข ก.ตร.ให้ประธานมาจากการเลือกตั้งของข้าราชการตำรวจ เพื่อขจัดการเมืองครอบงำ...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม