อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต้องเติบโตขึ้น มีต่างชาติเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากขึ้น แลรายได้เข้าประเทศต้องเพิ่มขึ้น

เป้าประสงค์ของการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2024 สาธารณรัฐฝรั่งเศส ครั้งที่ 77 ในนาม “ทีมไทยแลนด์” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ โดยการบูรณาการระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ เปิดตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเทศกาลภาพยนตร์ที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดของโลก ขยายธุรกิจบันเทิงของไทยจนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ

ทีมข่าววัฒนธรรม มีโอกาสติดตามคณะของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และ น.ส.จริมา ทองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ จึงขอทำหน้าที่ฉายภาพในการร่วมงานครั้งนี้

ภารกิจหลักของทีมไทยแลนด์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นการเปิดคูหาประชาสัมพันธ์ในนามประเทศไทย ร่วมกับ 47 ประเทศ รวม 320 คูหา ซึ่งจัดตั้งอยู่โซน

...

ด้านนอก โดยมี กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการนำเสนอผลงานและความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หนึ่งในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ซึ่งได้พัฒนาศักยภาพมาไกลมาก ทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เนื้อหา การถ่ายทำ เผยแพร่สู่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจต่างชาติ
ขณะเดียวกันแสดงให้เห็นถึงความงดงามของสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์

ทั้งสถานที่ ทางทะเล โบราณสถาน วัดวาอาราม ตลอดจนมีการให้ข้อมูลถึงสิทธิประโยชน์ในการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยด้วย

และอีกส่วนหนึ่ง อยู่ภายในอาคาร Marche du Film ตลาดซื้อขายภาพยนตร์ ที่ใหญ่และคึกคักที่สุดของโลกโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำ 12 ผู้ประกอบการภาพยนตร์ และคอนเทนต์ไทย ออกบูธกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้า มีการพบปะแลกเปลี่ยนไอเดีย เสนอโปรเจกต์ และเจรจาซื้อขายภาพยนตร์ ของคนทำหนังในระดับนานาชาติ ทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นายทุน ผู้จัดจำหน่าย ดารา ทีมงาน และเอเย่นต์

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เล่าว่า ประเทศ ไทยมีการพัฒนาศักยภาพด้านภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้านสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ทำให้ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาใช้บริการ มีการสร้างภาพยนตร์ตามเทรนด์ของโลก ซึ่งทำให้เราสามารถยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้เติบโตสู่ตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว

“ในแต่ละปีจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มีตัวเลขมูลค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมงานนี้ เพราะ ซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่อยู่ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องทำให้ชาวต่างชาติสนใจความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดความสนใจซื้อภาพยนตร์ไทยไปฉายในต่างประเทศ และในปีนี้ถือเป็นปีทองของประเทศไทย การเปิดคูหาประเทศไทย เป็นไปอย่างคึกคัก มีคนในแวดวงภาพยนตร์ต่างชาติแวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยผลสรุประหว่างวันที่ 14-25 พ.ค.2567 มีผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติและผู้สนใจเข้าสอบถามข้อมูลในคูหาประเทศไทยมากกว่า 600 ราย เรียงลำดับ ดังนี้

...

1.ข้อมูลด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย 2.การร่วมลงทุนด้านภาพยนตร์ 3.การจัดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศไทย 4.ทุนสำหรับให้ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ 5.นโยบายจัดตั้ง THACCA องค์กรที่ดูแลนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” ปลัด วธ. ขยายถึงผลความสำเร็จในการเปิดคูหาประเทศไทย

นางยุพา กล่าวต่ออีกว่า ความสนใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ขณะนี้มีจำนวนมากถึง 27 เรื่อง คาดการณ์ว่าจะนำเงินลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท ในการเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 1.สหรัฐอเมริกา 8 เรื่อง 2.อังกฤษ 2 เรื่อง 3.ออสเตรเลีย 1 เรื่อง 4.อิตาลี 2 เรื่อง 5.นอร์เวย์ 1 เรื่อง 6.อินเดีย 2 เรื่อง 7.ฝรั่งเศส 2 เรื่อง 8.สวิตเซอร์แลนด์ 1 เรื่อง 9.เอสโตเนีย 1 เรื่อง 10.เวียดนาม 1 เรื่อง 11.เยอรมนี 1 เรื่อง 12.แคนาดา 1 เรื่อง 13.เกาหลีใต้ 1 เรื่อง 14.จีน 1 เรื่อง และ 15. รัสเซีย 1 เรื่อง

ขณะที่ นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างชาติสนใจเข้ารับ มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เพราะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น เช่น มาตรการคืนเงินเริ่มต้น 15% ของค่าใช้จ่ายในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมาตรการดังกล่าวได้ปรับเพิ่มสูงสุดถึง 20% ทำให้ธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่เริ่มมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ ในปี 2560 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 80 ล้านยูโร หรือ 3,074 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 176 ล้านยูโร หรือ 6,700 ล้านบาท ในปี 2566

...

“ในปี 2567 เราคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทเข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทยและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 7.5 พันล้านบาท จึงอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากความสำเร็จของมาตรการจูงใจที่ชัดเจน จ่ายจริง และน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน จากหนังฟอร์มยักษ์ให้มาใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ ทำให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ในชุมชนและเมืองรองด้วย” ปลัดกระทรวงการท่อง เที่ยวฯ กล่าวในที่สุด

...

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า การเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ เป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายธุรกิจ และการลงทุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากต่างชาติ สู่การสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ

แต่โอกาสนี้จะเป็นไปได้ตามที่หวังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะการรองรับข้อเสนอที่ให้ไป รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ต่างชาติจะได้รับ

สำคัญที่สุดคือ จากผลสัมฤทธิ์ในอนาคตที่จะเห็นได้จากการจ้างงานและกระจายรายได้สู่บุคลากรและ ผู้ประกอบการของไทยที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยเฉพาะ ตัวเลขของเงินรายได้ที่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างแท้จริง

เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องรอการพิสูจน์.

ทีมข่าววัฒนธรรม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่